สูตรเลือกประธานสภาฯ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ยุ่งตายห่า….

ครับ…โค้วตงหมง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี ๒๕๑๘ พูดเอาไว้แบบนั้น

ไม่ใช่คำกล่าวในสภาอย่างเป็นทางการ เพราะเผลอพูดระหว่างทำหน้าที่ประธานบนบัลลังก์กับ “ประมวล กุลมาตย์” รองประธานสภาในขณะบรรยากาศการประชุมส่อเค้าจะวุ่นวาย

“ยุ่งตายห่า” ดังไปทั้งห้องประชุม เพราะลืมปิดไมโครโฟน

นั่นคือบรรยากาศการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภา ยุคการเมืองซ้าย ขวา รุนแรง แต่ประธานสภาผู้แทนฯ มีลูกล่อลูกชน มองโลกในแง่ดี พูดคุยสนุกสนาน

การควบคุมการประชุมจึงมักเป็นไปอย่างเรียบร้อย

ฉะนั้นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ เป็นตำแหน่งเฉพาะ ใช่ว่าจะเป็นกันได้ทุกคน

นักการเมืองประเภทหน้าตาขึงขัง จะเอาเรื่องทุกวินาที ขอแนะนำว่า อย่าเสนอชื่อคนแบบนี้เด็ดขาด

ฉิบหายทั้งสภาแน่นอนครับ

เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ที่กำลังจะเลือกกันในอีกไม่กี่วันก็ส่อเค้า “ยุ่งตายห่า” เช่นกัน

ไปๆ มาๆ ดูคล้ายแฝงเร้นเป็นศึกสามเส้า

แต่สองกลุ่มได้ประโยชน์

อีกกลุ่มอาจพลาดท่า ต้องกลับไปต้มน้ำใบบัวบกกินแก้ช้ำใน

เปิดตัวละครใหม่ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” มาพร้อมกับประโยคเด็ดที่ ก้าวไกล ฟังแล้วเสียวสันหลัง

“…ทุกพรรคมีโอกาสเสนอชื่อประธานสภาหมด และไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น ยุคท่านชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา พรรคพลังประชารัฐก็เป็นคนเสนอ…”

ลือกันให้แซ่ด พลังประชารัฐเตรียมเสนอชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ”

โยนหินถามทางหรือของจริง?

มาดูวิธีเลือกประธานสภาผู้แทนฯ กันก่อน

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๒ หมวด ๑

ข้อ ๕ ระบุไว้ว่าการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา และเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วย

ในการดำเนินการเลือกตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาหรือรองประธานสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม

ข้อ ๖ การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน

ให้ผู้ถูกเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุมภายในระยะเวลาที่ประธานกำหนด โดยไม่มีการอภิปราย

ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

ให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม

ข้อ ๗ การเลือกรองประธานสภา ให้นำความในข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่สภามีมติให้มีรองประธานสภาสองคน ให้เลือกรองประธานสภาคนที่หนึ่งก่อนแล้วจึงเลือกรองประธานสภาคนที่สอง

ข้อ ๘ เมื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภาได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาแล้ว ให้เลขาธิการส่งสำเนาประกาศพระบรมราชโองการไปยังวุฒิสภาเพื่อทราบด้วย

สาระสำคัญคือการลงคะแนนลับ ฉะนั้นขั้นตอนเหล่านี้ทางสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรจะเตรียมกระดาษไว้สำหรับส.ส.เพื่อเขียนชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อลงไป

เขียนเสร็จแล้ว ต้องใส่ซองปิดผนึก

จากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องประชุมจะขานชื่อสมาชิกทีละคน เพื่อให้นำซองไปหย่อนในหีบลงคะแนน

เมื่อสมาชิกหย่อนซองออกเสียงครบแล้ว ที่ประชุมจะตั้งกรรมการตรวจนับคะแนน จำนวน ๕ คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองหลัก พรรคละ ๑ คน เพื่อตรวจนับคะแนนและประกาศผล

ผู้ที่ถูกเสนอชื่อซึ่งได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ

เสร็จแล้วจะเป็นการเลือก รองประธานสภา คนที่ ๑ และคนที่ ๒ ตามลำดับ โดยใช้วิธีเดียวกัน

ครับ…วิธีลงคะแนนโดยลับนี้ ไม่มีสิทธิ์รู้ว่าใครเลือกใคร

ถ้ามีงูเห่า ก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าเป็นใคร

หลับตานึก…

ก้าวไกลเสนอชื่อ ธีรัจชัย พันธุมาศ

สำหรับเพื่อไทย เล่นตามน้ำไม่เสนอแข่ง แต่มีมติเลือก ธีรัจชัย พันธุมาศ พร้อมสัญญาจะอุ้มก้าวไกลไปจนสุดทาง

ส่วนพลังประชารัฐเสนอ สุชาติ ตันเจริญ

คิดว่า ส.ส.เพื่อไทยจะเลือกใคร?

หากมาสูตรนี้จริง…ยุ่งตายห่า

ครับ…แรงกระเพื่อมหลังจากนั้น ก้าวไกล จะตามหาคนทรยศ

ว่าไปแล้วก็ดูไม่ยาก เพราะเสียงในสภามี ๕๐๐ เสียง

๘ พรรคร่วมรัฐบาล ๓๑๓ เสียง

ส่วนที่หายไปจาก ๓๑๓ คือ ส.ส.เพื่อไทย

การเลือกนายกรัฐมนตรี ก้าวไกล จะระส่ำหนัก เพราะแยกไม่ออกไหนมิตรไหนศัตรู

แต่เพื่อไทยก็ยังตามน้ำเหมือนเดิม

การโหวตนายกฯ ต่างจากการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนฯ อย่างสิ้นเชิง

การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย และเพื่อไทยจะมีมติเลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

ขั้นตอนคือ เลขาธิการรัฐสภา จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ

ส.ส. ๕๐๐ เสียง ส.ว. ๒๕๐ เสียง รวม ๗๕๐ เสียง

ใครได้ ๓๗๖ เสียงขึ้นไป ก็เอาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปครอบครอง

แต่หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

คิดว่า “พิธา” โดยการอุ้มของเพื่อไทย จะผ่านด่านนี้หรือเปล่า

มีอยู่แล้ว ๓๑๓ เสียง

ต้องหาเพิ่มอีก ๖๓ เสียง

มีอยู่ ๒ ทางเลือก จะเอา ๗๑ เสียงจากภูมิใจไทย หรือ ๖๓ เสียงจากวุฒิสภา

ไม่ว่าเลือกทางไหนล้วนเป็นงานที่ยากสำหรับก้าวไกล เนื่องจากขุดกับดักขวางทางตัวเองแทบจะทุกฝีก้าว

ผิดกับเพื่อไทย เลื้อยไปได้ทุกทิศทาง

Written By
More from pp
นิพนธ์ รุดช่วยน้ำท่วมอ.สะเดา จ.สงขลา หลังฝนตกหนักตลอดคืนที่ผ่านมา สั่งบูรณาการทุกหน่วย ดูแลชีวิตประชาชนให้ปลอดภัย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 พ.ย.63 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์...
Read More
0 replies on “สูตรเลือกประธานสภาฯ – ผักกาดหอม”