สันต์ สะตอแมน
““คนเสื้อแดง”กับ “คนไอทีวี”เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ..
ถูกกระทำอย่างอยุติธรรม สำนึกการต่อสู้เพื่อความ “ยุติธรรม” จึงฝังอยู่ในใจเราเสมอ”
เนี่ย..คุณจอม เพชรประดับ อดีตบรรณาธิการข่าวสังคม ไอทีวี ผู้ลี้ภัยหนีคดีความมั่นคงในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ท่ามกลางกระแส..ไอทีวีเป็น-ไม่เป็นสื่อ?
เรื่อง..คนเสื้อแดงถูกกระทำอย่างอยุติธรรมน่ะไม่ขอพูด แต่อยากบอกเพียงว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”
ส่วนไอทีวีนั้น เอาคร่าวๆจากวิกิพีเดียบันทึกก็แล้วกัน..ในปีพ.ศ.2538 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรีขึ้น
โดยกลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับอนุมัติให้ดำเนินงาน โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ ในระบบยูเอชเอฟ ออกอากาศทางช่อง 26
จากนั้น กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการสถานีฯ โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทานฯ เมื่อวันที่ 3ก.ค.38
20 ตุลา 2541 บจก.สยาม อินโฟเทนเมนท์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
และในราวปี พ.ศ. 2542 หน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณให้กับไอทีวี จากช่อง 26 มาเป็นช่อง 29 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ
ต่อมา ในปี 2543 บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของ บมจ.ไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวของสถานีฯ บางส่วนลาออก
วันที่ 9 พ.ค. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน.ลดค่าสัมปทานแก่สถานีฯ เป็นเงิน 230 ล้านบาท
ตลอดจนการปรับเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงในผังรายการ เป็นร้อยละ 50 เท่ากับรายการข่าวและสาระ รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยโดย สปน.
ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2549 ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ บมจ.ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานสำหรับเช่าเวลาออกอากาศ เป็นเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม
นอกจากนี้ ไอทีวี ยังต้องเสียค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี รวมเวลา 2 ปี
จากนั้น สถานีฯ จึงต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกอากาศโดยทันที ประกอบกับที่ผู้ผลิตรายการบางส่วน เริ่มถอนรายการออกจากสถานีฯ เป็นผลให้ความนิยมของสถานีฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 14 ธันวา 49 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศให้ บมจ.ไอทีวี ชำระค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 เป็นจำนวนเงินรวม 464 ล้าน 5 แสนบาท..และให้ชำระค่าปรับ กรณีทำผิดสัญญาเรื่องปรับผังรายการ อีกกว่า 97,760 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บมจ.ไอทีวี ก็ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ให้กับ สปน.ได้ ที่สุดแล้ว ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานฯ และสั่งให้ยุติการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง
ต่อมา บริษัท ไอทีวี ได้เสนอข้อพิพาท กรณี สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบ โดยวันที่ 14 ม.ค.59 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดว่า
สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ ไอทีวี และ ไอทีวี ก็ต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างเช่นกัน
คำชี้ขาดจึงสรุปว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อกัน ทั้งนี้ สปน. ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครองกลาง และวันที่ 17 ธันวา2563 ศาลปกครองกลางพิพากษายกคำร้องของ สปน.
ด้วยเหตุว่า คดีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้”
ครับ..(คน)ไอทีวีถูกกระทำอย่างอยุติธรรมหรือไม่..
สาธุชนขอจงใคร่ครวญด้วยใจเป็นธรรม!