โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แสดงความเสียใจ กรณีผู้นำสตรีชาวบางกลอย จ.เพชรบุรี เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ยันมีนโยบายดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เตรียมตรวจสอบให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แสดงความเสียใจ กรณีผู้นำสตรีชาวบางกลอย จ.เพชรบุรี เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ยันมีนโยบายดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เตรียมตรวจสอบให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
เผยส่งทีม SRRT สอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตและเฝ้าระวังไข้เลือดออกในชุมชนแล้ว สำหรับการเยียวยามาตรา 41 สปสช.เป็นผู้พิจารณา
29 พฤษภาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับการยื่นหนังสือจากทางเครือข่ายประชาชนพิทักษ์เสรีภาพและความเป็นธรรม
กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย จ.เพชรบุรี จากโรคไข้เลือดออก โดยระบุว่าเกิดจากการไม่ตระหนักในสิทธิมนุษยชนและมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในการให้บริการของโรงพยาบาลแก่งกระจานและโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี
ขอให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความเป็นธรรม รวมถึงเยียวยาความเสียหายตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ส่วนเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์นั้น สามารถประสานยื่นเรื่องไปยัง สปสช.ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเยียวยาตามมาตรา 41 โดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีร้องเรียนการให้บริการผู้ป่วยนั้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้การดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ใด
ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลแก่งกระจานก็มีการพัฒนาระบบบริการเพื่อรองรับการดูแลประชากรกลุ่มต่างๆ ทั้งในเรือนจำ 2,192 คน และกลุ่มชาติพันธุ์ 3,650 คน ให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลมากขึ้น มีการวางระบบนำส่งผู้ป่วยห่างไกลที่ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง
โดยมีการเปลี่ยนถ่ายให้รถโรงพยาบาลระหว่างทาง ช่วยลดระยะเวลาให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วขึ้น พัฒนาระบบ Tele-Health และ Sky doctor ส่งต่อผู้ป่วยภาวะวิกฤต
ทั้งนี้ จะให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการให้บริการเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่าโรคไข้เลือดออกนั้น อาการช่วงแรกจะมีความคล้ายกับโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ
เช่น โรคโควิด 19 โรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้วินิจฉัยได้ยาก ซึ่งได้มีการกำชับให้บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการระบาดตามฤดูกาล
เบื้องต้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ได้รายงานกรณีพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ว่า ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 44 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566
เข้ารับการรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ส่งต่อมาโรงพยาบาลพระจอมเกล้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 และเสียชีวิตวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 9.00 น.
จึงให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) โรงพยาบาลพระจอมเกล้า สอบสวนโรคจากประวัติการรักษา และให้ทีม SRRT แก่งกระจาน ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติมและค้นผู้ป่วยในชุมชน เพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค
พร้อมทั้งแจ้งให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคใน จ.เพชรบุรี รับทราบทั่วกันเพื่อเป็นการเฝ้าระวังโดยจะเฝ้าระวังการป่วยในชุมชนที่ผู้ป่วยพักอาศัยต่อเนื่องจนกว่าโรคจะสงบ และดำเนินการควบคุมโรคตามมาตรฐานการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก