24 เมษายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยพร้อมคณะ และนายเดวิด มาร์ติน ประธานมูลนิธิ Ocean for All พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมการพัฒนาคลองลาดพร้าว โดยลงเรือสำรวจสภาพแวดล้อมภายในคลอง โครงการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยริมคลอง ความเป็นอยู่ของประชาชนที่พักอาศัยริมคลอง ณ บริเวณริมคลองลาดพร้าวทั้งสองฝั่ง
พร้อมทั้งหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง ปรับภูมิทัศน์ตลอดจนระบบความปลอดภัยทางน้ำ ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาคลองลาดพร้าว มีที่มาจากการเกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วม ปี 2554 มีบ้านรุกล้ำ จำนวน 6,566 หลัง กีดขวางการระบายน้ำในคลองลาดพร้าว และปัญหาขยะ/น้ำเน่าเสีย/สิ่งแวดล้อม ในคลองลาดพร้าว มติ ครม. วันที่ 5 มิ.ย.55 จึงเห็นชอบการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ริมน้ำและทางระบายน้ำ (ระยะเร่งด่วนพัฒนา 9 คลองสายหลัก) ให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่บุกรุกลำน้ำสาธารณะ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาจัดหาที่พักอาศัยถาวรให้กับผู้ที่บุกรุก
ต่อมามีมติ ครม. วันที่ 24 ก.พ.58 อนุมัติแผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน ประจำปี งบประมาณ 2558 (งบกลาง) ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว โดยมีเป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ (ก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าวและประตูระบายน้ำ) แก้ไขปัญหาขยะ/น้ำเน่าเสีย/สิ่งแวดล้อม ในคลองลาดพร้าว จัดระเบียบที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าว ทางเดินทางจักรยานริมคลองลาดพร้าว การเดินเรือ และจุดเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ และปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองให้มีความสะอาดสวยงาม
ทั้งนี้ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา การรุกล้ำคลองลาดพร้าว ความยาวคลองลาดพร้าว 22,050 เมตร (ความยาวเขื่อน 44,100 เมตร) ก่อสร้างเขื่อนแล้ว 12,330 เมตร (ความยาวเขื่อน 24,660 เมตร) คิดเป็นร้อยละ 55.91 ก่อสร้างทางเดินริมคลองแล้ว 23,350 เมตร
คลองลาดพร้าว เป็นคลองระบายน้ำสายหลัก รองรับการระบายน้ำในพื้นที่ 8 เขต ได้แก่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตวังทองหลาง เนื่องจากเป็นคลองที่ต่อเชื่อมระหว่างคลองหกวาสายล่างกับคลองแสนแสบ ซึ่งมีอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า – รามคำแหง ทำให้เป็นคลองที่มีศักยภาพสูงหากได้รับการพัฒนา ดังนั้นการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและแก้ปัญหาการรุกล้ำแนวเขตคลองสาธารณะ รวมถึงการพัฒนาภูมิทัศน์ริมฝั่งคลองให้สวยงาม
ในการนี้มี รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี และนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตลาดพร้าว ร่วมลงพื้นที่