วันที่ 21 เมษายน 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย ว่า
ตามที่ได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมร่วมกับ ดร.เส็ง ศักดา (H.E.Seng Sakda) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน 2566
ซึ่งภายหลังการประชุมดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย
กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทย เพื่อเดินทางไปกัมพูชาเพื่อขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ได้ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลเพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงรายงานผลการประชุมวิชาการต่อว่า สำหรับการปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชานั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้การตรวจสุขภาพในประเทศต้นทางต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ
โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สำหรับการแก้ไขบทเฉพาะกาล ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ประเทศผู้รับสามารถปรับขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานโดยเน้นที่การคุ้มครองสิทธิ และประโยชน์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่กระทบต่อนโยบายและประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงาน
ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนแรงงานกัมพูชา (Cambodian Migrant Workers Supporting Center) ในประเทศไทย ฝ่ายไทยรับทราบและจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเสนอให้ใช้ระบบการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งและรับแรงงานกัมพูชาตาม MOU ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ฝ่ายไทยเห็นด้วยในหลักการในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน
นอกจากนี้ ในประเด็นอื่น ๆ ฝ่ายกัมพูชาจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้แรงงานกัมพูชาสามารถเข้ามาทำงานในฤดูเก็บเกี่ยวในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ผลจากการประชุมระดับวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในครั้งนี้ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนต่าง ๆ แก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง/ผู้ประกอบการในประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และที่สำคัญจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอีกด้วย