หมูเถื่อน ขวางลำฟื้นฟูการผลิตหมูไทย

จุฑา ยุทธหงสา ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์

“หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” หรือชื่อใหม่ในวงการเรียกขานคือ “หมูเทา” ที่รัฐบาลต้องกำจัดให้หมดไปจากประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นฟูการผลิตหมูไทยให้กลับสู่สถานการณ์ปกติที่ 19 ล้านตัวต่อปี เพื่อรองรับการบริโภคของคนไทยอย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสมเข้าถึงได้

เพราะหมูเถื่อนกดราคาหมูไทยให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจากราคาหน้าฟาร์มที่เคย 100 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุดลดลงเหลือ 84-88 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว โอกาสที่ผู้เลี้ยงหมูไทยจะลืมตาอ้าปากได้อาจจะไม่ใช่ภายในปีนี้หรือแม้แต่ปีหน้าคงเป็นเรื่องยาก

ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงได้รับผลกระทบจาก “หมูเถื่อน” หนักหนาสาหัส เพราะราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มตกต่อเนื่องรวมแล้ว 18 บาท ไปอยู่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และหากยังปล่อยหมูผิดกฎหมายเข้ามาท้าทายมีโอกาสสูงมากที่ราคาจะไหลลงไปถึง 70 บาท ได้

ส่งผลให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องปรับฐานราคาถึง 2 ครั้งในเดือนเดียวกันรวม 8 บาท จึงทำให้ราคาขยับขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 84-88 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงลดภาระขาดทุน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ รวมตัวกันยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากเนื้อหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย

โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือและรับปากเร่งรัดทุกหน่วยงานราชการและสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้รับข้อเรียกร้องจากสมาคมฯ ดำเนินการแก้ปัญหา พร้อมแนะนำให้ผู้เลี้ยงสุกรนัดเข้าพบกรมศุลกากรที่เป็นต้นทางของการกระทำความผิดเพื่อหารือรายละเอียดและแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกฯ เคยออกสั่งการหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเคร่งครัดและรัดกุม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้เลี้ยงและให้ดูแลผู้บริโภคอย่างดี

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์แบบทำความเย็นที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่ามีหมูเถื่อนซุกซ่อนอยู่หรือไม่ เพราะหากเล็ดลอดออกไปได้จะเป็นผลร้ายทวีคูณกดราคาหมูมีชีวิตให้ต่ำลงไปอีก เนื่องจาก พ่อค้าคนกลางไม่จำเป็นต้องซื้อหมูเป็นจากฟาร์ม แต่สามารถซื้อชิ้นส่วนหมูเถื่อนแช่แข็งและส่งมอบให้เขียงได้ทันที

ซึ่งราคาหมูเถื่อนนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก หรือประเทศแถบยุโรป รวมค่าจนส่งและค่าบริหารจัดการแล้วยังขายเนื้อแดงได้ในราคากิโลกรัม 135-145 บาทต่อกิโลกรัม คำนวณเป็นต้นทุนที่ต้นทางจะอยู่ที่ประมาณ 40-60 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

สำหรับผู้เลี้ยงหมูไทย ที่ทยอยนำหมูเข้าเลี้ยงตั้งแต่ปลายปี 2565 อาจจะชะลอการเลี้ยงอีกครั้งหากสถานการณ์ราคายังไม่สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง เพื่อลดการขาดทุนสะสมตั้งแต่ช่วงโรคระบาด ASF ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แม้จะลดลงก็เพียงเล็กน้อยไม่มีนัยสำคัญ

สำหรับราคาข้าวโพดปรับลดลงจาก 13.50 บาทต่อกิโลกรัม เหลือประมาณ 12.50 บาท ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง ต่อการบริหารจัดการและยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าและค่าแรงงานที่เกษตรกรต้องแบกภาระอยู่ ที่สำคัญ “หมูเถื่อน” เป็นเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดที่อาจจะส่งผลถึงผู้บริโภคอีกด้วย

อนาคตของอุตสาหกรรมหมูไทย จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับนโยบายภาครัฐในการกำหนดแนวทาง “ความมั่นคงทางอาหาร” ของประเทศไว้ในทิศทางใด หากปัญหา “หมูเถื่อน” ไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีและจริงจัง ผู้เลี้ยงหมูไทยคงถอดใจเลิกเลี้ยงหมูคุณภาพดีและปลอดภัยในไม่ช้า และในอนาคตอันใกล้ไทยอาจจะต้องนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ที่ราคาต่ำกว่าไทยมากซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ

ซึ่งมาตรฐานการเลี้ยงและการขนส่งของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน อาจมีสารปนเปื้อนหรือโรคระบาดติดเข้ามาได้ ต่างจากหมูไทยที่กรมปศุสัตว์กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดตามมาตรฐานสากล ปลอดสารเร่งเนื้อแดงและควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัด เป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค แต่หากหมูเถื่อยังวนเวียนและกดดันราคาต่อเนื่องแบบนี้ การฟื้นฟูการผลิตหมูไทยคงไปไม่รอดต้องม้วนเสื่อปิดกิจการในไม่ช้า

Written By
More from pp
“สมศักดิ์” โต้ “ศรีสุวรรณ” กล่าวหาเรื่องเดิม ยัน ไม่พบทุจริตกำไลอีเอ็ม สมัยนั่ง รมว.ยุติธรรม ชี้ กรมคุมประพฤติ เคยแจง กมธ.ไปหมดแล้ว ไม่มีการสอบต่อ
“สมศักดิ์” โต้ “ศรีสุวรรณ” กล่าวหาเรื่องเดิม ยัน ไม่พบทุจริตกำไลอีเอ็ม สมัยนั่ง รมว.ยุติธรรม ชี้ กรมคุมประพฤติ เคยแจง กมธ.ไปหมดแล้ว...
Read More
0 replies on “หมูเถื่อน ขวางลำฟื้นฟูการผลิตหมูไทย”