1 เมษายน 2566 – สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 (ฉบับเต็ม) กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 53,094,778 คน ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 – 31 มีนาคม พ.ศ.2566
โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95
เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจจุดยืนทางการเมืองของประชาชนระหว่าง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 เป็นร้อยละ 39.1 ในขณะที่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 29.6 เป็นร้อยละ 24.5 และกลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงคือร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 1 และร้อยละ 36.4 ในการสำรวจครั้งที่ 2
ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง แบ่งออกระหว่างกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับ กลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปรียบเทียบครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.6 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.7 ในครั้งที่ 2 โดยพบว่าเป็นการเทคะแนนมาจากกลุ่มพลังเงียบ
ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันลดลงจากร้อยละ 43.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล
อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทยเพิ่มจากร้อยละ 19.1 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 20.5 ในครั้งที่ 2
รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์เพิ่มจากร้อยละ 13.4 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 14.2 ในครั้งที่ 2
อันดับสามได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ในครั้งที่ 2
อันดับที่สี่ ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 เป็นต้น
ในขณะที่ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือก ส.ส. ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทยแต่ลดลงจากร้อยละ 36.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.1 ในการสำรวจครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในครั้งที่ 2 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยยังคงเท่าเดิมคือ ร้อยละ 0.5 ในการสำรวจทั้งสองครั้ง
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ คนที่ประชาชนอยากได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในกลุ่มแฟนคลับของพรรคร่วมรัฐบาล อันดับแรกยังคงเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.0 ในการสำรวจครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.4 ในครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 12.2 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 12.9 ในครั้งที่ 2 และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจส่วนของฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรกยังคงเป็น นางสาว แพทองธาร ชินวัตร แต่สัดส่วนลดลงจากร้อยละ 39.7 ในการสำรวจครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 32.1 ในครั้งที่ 2 ในขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.7 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 ตามลำดับ
รายงานผลสำรวจของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญเพราะจะเปลี่ยนไปมาได้โดยง่าย กลุ่มพลังเงียบน่าจะเป็นกลุ่มชี้เป็นชี้ตายชัยชนะผลการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เพราะหากไปสนับสนุนฝั่งใดฝั่งนั้นน่าจะเป็นฝ่ายที่จะถึงเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยผลการศึกษาของซูเปอร์โพลยังพบด้วยว่าปัจจัยสำคัญทางการเมือง คือ ประชาชนหันมาสนใจติดตามข่าวการเมืองเพิ่มขึ้นรับรู้ผลงานของรัฐบาลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละคนมากขึ้นเป็นข้อได้เปรียบของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล
ในขณะที่ข้อเสียเปรียบของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ ฐานเดิมไม่ได้ขยายเพิ่ม กลุ่มสวิงที่เปลี่ยนใจง่ายยังไม่เห็นผลงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านและบางส่วนมองว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง