ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบการเสนอผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย ให้เป็นรายการตัวแทนต่อยูเนสโก ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งจะมีการยื่นเสนอต่อยูเนสโกภายในห้วงเดือนมีนาคม 2566
ผ้าขาวม้าที่ไทยจะนำเสนอยูเนสโกนั้นจัดเป็น “ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย” ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ใช้โดยทั่วไปและใช้ได้สารพัดประโยชน์ในสังคมเกษตรกรรมในชนบททางภาคเหนือและภาคอีสาน และก็ได้แพร่หลายไปยังภาคกลางและภาคใต้ตามการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดชุมชนทอผ้าขาวม้าเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่และขอบเขตอาณาบริเวณ คือ ทั่วประเทศ
แต่จังหวัดที่มีความโดดเด่นของการผลิตและการใช้ประโยชน์ของผ้าขาวม้าแยกตามภาค คือ ภาคเหนือ: เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์, ภาคอีสาน: นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี, ภาคกลาง: กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุโขทัย และภาคใต้: สงขลา พัทลุง
สำหรับคุณสมบัติของผ้าขาวม้าที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของ UNESCO ได้แก่
1.เป็นผ้าที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่อดีต ทั้งในการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล เช่น ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ผ้าปูโต๊ะ ใช้ในพิธีแต่งงาน พิธีศพ เป็นต้น
2.เป็นภูมิปัญญาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติเนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและยั่งยืน โดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่และใช้หมุนเวียนซึ่งจะเปลี่ยนหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยไปตามสภาพ และ
3.เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมเนื่องจากเป็นผ้าทอพื้นฐานที่ใช้เทคนิคการทอที่ธรรมดาไม่ซับซ้อนจึงสามารถทอใช้กันเองได้ในครัวเรือนและชุมชน
มาตรการสงวนรักษาผ้าขาวม้าในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ มี 4 แนวทางคือ
1.โรงเรียนในท้องถิ่นหลายแห่งในไทยได้มีการสอนทอผ้าเป็นรายวิชาหนึ่งในหมวดของงานหัตถ์ศิลป์ท้องถิ่น
2.วัดและศูนย์การศึกษานอกระบบโรงเรียนได้ส่งเสริมการทอและใช้ผ้าขาวม้า
3.มหาวิทยาลัย/วิทยาลัยในท้องถิ่นทำการวิจัยเกี่ยวกับผ้าขาวม้าและเผยแพร่สู่สื่อสาธารณะและประชาชน และ
4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ริเริ่มให้เกิดวิสาหกิจชุมชนและได้รับการบรรจุให้เป็นสินค้าท้องถิ่นที่ต้องได้รับการปกป้องและส่งเสริม รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมได้สนับสนุนให้ผ้าขาวม้าเป็นสินค้าที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทย
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ไปที่ประจักษ์แก่นานาประเทศทั่วโลก โดยที่ผ่านมาสามารถนำมรดกวัฒนธรรมไทยขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา ในปี 2561 2562 และ 2564 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอไปแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนของยูเนสโก คือ สงกรานต์ในไทยและต้มยากุ้ง
สำหรับการเสนอผ้าขาวม้าในครั้งนี้จัดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมลำดับที่ 7 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญนำเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก