หมูไทยโดนรุม “กินโต๊ะ” ทั้งหมูเถื่อนและหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน

นรชาติ สรงอินทรีย์ ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์

หมูไทยยังวนเวียนอยู่ในวังวนของปัญหา หลังผจญกับโรคระบาด ASF เมื่อปีที่ผ่านมา จนต้องทำลายทั้งแม่หมูและหมูขุนไปทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 50% ของผลผลิตรวมของไทย และยังไม่สามารถฟื้นฟูผลผลิตได้ 100% จนถึงขณะนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกล้าๆ กลัว ที่จะนำหมูเข้าเลี้ยงรอบใหม่ คือ “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้ามาขายราคาต่ำกว่าต้นทุนหมูไทย ราคาหมูไทยให้ตกต่ำและไม่มีเสถียรภาพจนเกษตรกรขายผลผลิตด้วยความยากลำบาก และโอกาสหมูเถื่อนจะเป็นพาหะนำเข้าโรค ASF มาระบาดซ้ำอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง

นายสัตวแพทย์ จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เตือนให้ระวังเกี่ยวกับ “หมูเถื่อน” ที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง และดั๊มพ์ราคาขายในไทยได้เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่นิยมบริโภค หรือ เป็นหมูที่มีปัญหาติดโรคระบาดสัตว์ และไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ทำให้มีการส่งออกมาไทยในราคา “ขายทิ้ง”และสะดวกต่อการจัดจำหน่าย ขายปนกับหมูไทยบนเขียงหมูในตลาดสดแบบแยกไม่ออก หรือ นำเสนอขายแบบทั้งกล่องให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งหมูเถื่อนคือ “ภัยร้าย” ต่อสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ

นอกจาก “หมูเถื่อน” จะเป็นปัจจัยทำให้หมูไทยไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ขณะนี้หมูไทยยังเจอปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูแช่แข็งและหมูร้อน จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งจาก ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งคาดการณ์ว่าหมูแช่แข็งที่ลักลอบนำเข้าตามช่องทางนี้ เป็นหมูเถื่อนที่เปลี่ยนเส้นทางจากเมืองไทยไปหาช่องทางใหม่ หลังการมีการจับกุมอย่างจริงจังช่วงไตรมาส 4 ในปี 2565

ที่สำคัญ ภาคปศุสัตว์ของทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม มีแต้มต่อด้านต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าเสรี ขณะที่กัมพูชามีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ต่างจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่คุ้มครองพืชไร่

โดยกำหนดทั้งมาตรการภาษีและโควต้านำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง โดยกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่กำหนดราคาเพดานขั้นสูง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้

จากนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศเหล่านี้ต่ำกว่าไทยมาก ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจึงจูงใจให้มีการลักลอบส่งออกหมูร้อนมาหาประโยชน์ส่วนต่างราคาในประเทศไทย โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ที่มีพรมแดนติดกับไทยได้ไม่ยาก ผ่านจังหวัดสระแก้ว อุบลราชธานี และมุกดาหาร

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นโอกาสที่ “หมูไทย” จะฟื้นฟูการผลิตให้กลับมาอยู่ที่ 18-19 ล้านตัวต่อปี ตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความผันผวนของราคาทั้งหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มและราคาเนื้อสตว์ที่ยังไม่มีเสถียรภาพ เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เลี้ยงหมู

โดยเฉพาะ “หมูเถื่อน” ยังคงกดดันราคาหมูไทยขายได้ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิตในปัจจุบัน เนื่องต้นทุนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิตอื่นทั้งเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันโรค ต้นทุนพลังงาน ยังอยู่ในระดับสูง

ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประเมินต้นทุนการผลิตช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 อยู่ที่ 100.30-101.06 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาที่ผู้เลี้ยงหมูไทยขายได้แล้วขาดทุนแน่นอน

วันนี้ หากต้องการให้ผู้เลี้ยงหมูไทยยืนหยัดเดินหน้ากิจการต่อไปได้ และฟื้นฟูผลผลิตหมูได้ตามเป้าหมายเพียงพอต่อการบริโภคในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ผู้บริโภคอยู่ได้ ผู้เลี้ยงอยู่รอด

สำคัญที่สุดคือ “หมูไทย” ปลอดภัยกว่า “หมูเถื่อน” เพราะหมูไทยมีการตรวจสอบคุณภาพและสารปนเปื้อนตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทุกคน

ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการเด็ดขาดในการกำจัดหมูเถื่อนให้หมดไป เพื่อเปิดทางให้คนไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์คุณภาพดี แทนหมูเถื่อนราคาถูกพร้อมของแถมที่มองไม่เห็น

Written By
More from pp
Baby Swimming  (เบบี้ สวิมมิ่ง) โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กและทารกมาตรฐาน ISO แห่งเดียวในประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจในยุค New Normal ตอบรับวิถีชีวิตปกติใหม่ ชูมาตรฐานความปลอดภัยตามหลัก Social Distancing
เล็งขยายธุรกิจเพิ่มในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ทั้งในรูปแบบลงทุนเอง ร่วมทุน และแฟรนไชส์ เปิดแผนปี 2564 ปูพรมขยายสาขาทั่วประเทศรวมอย่างน้อย 15 แห่ง ตอบรับแนวโน้มตลาดเติบโตสูงหลังโควิด-19 ที่ผู้ปกครองยังคงมีความต้องการให้บุตรหลานได้เรียนว่ายน้ำ...
Read More
0 replies on “หมูไทยโดนรุม “กินโต๊ะ” ทั้งหมูเถื่อนและหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน”