12 กุมภาพันธ์ 2566-นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มสายไหมต้องรอด นำโดยนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ นำตัวแทนเหยื่อนายหน้าเถื่อนหลอกลวงเพื่อไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย
ซึ่งมีผู้เสียมากกว่าร้อยคน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคม. เพื่อให้เร่งรัดความคืบหน้าของคดี ซึ่งผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ ที่ สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ สภ.เมือง จ.นครราชสีมา และ สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี นั้น
ตนทราบเรื่องแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการอธิบดีกรมการจัดหางาน เร่งติดตาม ช่วยเหลือ และร่วมฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) แจ้งว่าจะประสานข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของคดี ให้ทราบเพิ่มเติมโดยเร็ว ซึ่งได้กำชับไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เพื่อประสานสถานีตำรวจภูธรในแต่ละท้องที่ ในการติดตามการดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว
“ผมขอฝากถึงพี่น้องคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศไม่ว่าประเทศใดหากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์แนะนำให้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าประเทศ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวไปทำงาน หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง และโปรดอย่าหลงเชื่อ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการกรมการจัดหางาน ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงคนหางานในทุกช่องทาง ซึ่งขณะนี้กรมฯ ทำงานเชิงรุก มีการจับตาสื่อสังคมออนไลน์ และตอบโต้ไปยังโพสต์ต่าง ๆ ที่มีการเชิญชวนคนไทยไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน หรือชวนไปทำงานในลักษณะผิดกฎหมาย รวมทั้งกลุ่มที่อ้างชื่อกรมการจัดหางาน สร้างความน่าเชื่อถือว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ พร้อมประชาสัมพันธ์วิธีการไปทำงานต่างประเทศถูกกฎหมาย 5 วิธี และการสังเกตผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันมิจฉาชีพ
“กรมการจัดหางานมีการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเข้มงวด โดยปีงบประมาณ 2566 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 46 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 112 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 10,618,435 บาท กรมการจัดหางานขอย้ำว่าผู้ที่จัดหางานให้คนไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการจัดหางาน หรือหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้
โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงิน หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่ Facebook : ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน