ผักกาดหอม
ต้องเหนื่อยกันตั้งแต่ต้นปี
ประเด็นดรามาในโซเชียลวันนี้หนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ”
เป็นประเด็นฮอตที่ลากได้ยาว แล้วแต่จินตนาการของใครว่าไปไกลแค่ไหน
ในมุมการเมืองหนีไม่พ้นแน่นอน มีคำถามที่รัฐบาลต้องตอบมากมาย
แต่การโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นำไปโจมตีกันในโลกโซเชียล ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะสถาบันเบื้องสูงไม่สามารถลงมาตอบคำถามได้
แม้จะมีการจงใจโจมตีไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตามที
เรื่องการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ก่อนชื่อสนามบินสุวรรณภูมิ เดิมคือสนามบินหนองงูเห่า
ชื่อสุวรรณภูมิ มีความหมายว่า “แผ่นดินทอง” เป็นชื่อที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๓
พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๕
และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙
อีกตัวอย่าง เขื่อนภูมิพล
เดิมทีใช้ชื่อว่า เขื่อนยันฮี
คณะรัฐมนตรีอนุมัติการก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๙๖
การเวนคืนเริ่มในปี ๒๔๙๙
เริ่มก่อสร้างปี ๒๕๐๐ ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐฯ และมีบริษัทอื่นจาก ๑๔ ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา ต่อมาเดือนกรกฎาคมปี ๒๕๐๑ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล
วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๔
การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗
จะเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อนั้น เปลี่ยนก่อนที่จะสร้างเสร็จและเปิดใช้
แล้วทำไมกรณี สถานีกลางบางซื่อ ถึงมาเปลี่ยนชื่อทีหลัง
คำถามคือ วางแผนกันอย่างไร?
อีกประเด็นที่พูดถึงกันมากคือ ราคาป้ายชื่อที่เปลี่ยน
มูลค่า ๓๓ ล้านบาท
แน่นอนครับเม็ดเงินขนาดนี้ถือว่ามหาศาล
คนที่คิดจะโจมตีอยู่แล้วก็สนุกปาก
แค่ป้ายราคาตั้ง ๓๓ ล้านบาท เอาไปสร้างโรงเรียนได้หลายสิบโรง เอาไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เยอะแยะ
ก็ต้องทำความเข้าใจว่าแพงเพราะอะไร มันไม่ใช่ป้ายชื่อ อบต. แต่แพงเพราะป้ายขนาดใหญ่ยึดกับโครงสร้างกระจก ถ้าเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนทั้งยวง มันถึงได้แพง
มาดูคำชี้แจงของการรถไฟแห่งประเทศไทย
…..ขอบเขตงานทั้งหมด ประกอบด้วย
งานส่วนที่ ๑ งานโครงสร้างวิศวกรรม งานรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม ทั้งในส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานรื้อผนังกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมเดิม งานรื้อระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายเดิม งานผลิตและติดตั้งโครงเหล็กยึดตัวอักษรใหม่ต่อเติมตามความยาวป้ายที่เพิ่มขึ้น
งานส่วนที่ ๒ งานผลิตป้ายใหม่ งานติดตั้งแผ่นกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมใหม่ และงานประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ งานติดตั้งป้ายชื่อใหม่ และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ ๑
งานส่วนที่ ๓ งานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา ๓๖๕ วัน (๑๒ เดือน)
นอกจากนี้ ในการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานีจำนวน ๒ ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรตัวสระภาษาไทยฝั่งละ ๒๔ ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ ๓๑ ตัวอักษร และ ๑ ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้ง ๒ ฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง ๔๘ ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม ๖๒ ตัวอักษร และ ๒ ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ
ส่วนรายละเอียดของอักษรป้ายชื่อที่ขอพระราชทาน ในส่วนที่เป็นชื่ออักษรภาษาไทย มีความสูง ๓ เมตร กว้าง ๒.๖ เมตร หนา ๔๐ เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม ๖๐ เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง ๒.๑ เมตร กว้าง ๒.๒ เมตร หนา ๔๐ เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง ๗ เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้ให้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า ๑๐ มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า
โดยเฉพาะการรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) รวมถึงงานรื้อผนังกระจก (เดิม) และการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) รวมถึงงานติดตั้งผนังกระจก (ใหม่) ดำเนินการด้วยการติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว ๖ เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน ๔ กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๒๘ เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก ๙ ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า ๗ ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ขณะเดียวกัน ผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน ๑๕๐ วัน (๕ เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา ๓๖๕ วัน (๑๒ เดือน) โดยเมื่อเริ่มงานผู้รับจ้างต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อขออนุมัติภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยในแผนงานต้องระบุงานติดตั้งเฉพาะงานโครงป้ายตัวอักษร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้ง ๒ ด้านของอาคารสถานี พร้อมติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน และต้องดำเนินงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดจนถึงครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา ๑๕๐ วัน
ท้ายนี้ การรถไฟฯ จึงขอให้ความมั่นใจว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการ พร้อมกับได้คำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศ และภูมิภาคต่อไป…….
ส่วนตัวไม่ติดใจเรื่องราคาป้าย รวมทั้งการติดตั้งในเชิงเทคนิคต่างๆ เพราะตามที่อธิบายมาถือว่าสมเหตุสมผล
แต่ติดใจเรื่องวิธีคิดของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยมากกว่า
สถานีกลางบางซื่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เสร็จสิ้นปี ๒๕๖๔
สถานีกลางบางซื่อ อย่างไรเสียชื่อก็ไปซ้ำกับสถานีรถไฟบางซื่อ ที่อาจสร้างความสับสนได้
จะใช้ชื่อสถานีกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ เพราะจะไปซ้ำกับสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)
อย่างไรเสียก็ต้องเปลี่ยน ทำไมไม่ขอพระราชทานชื่อตั้งแต่แรกเหมือน สนามบินสุวรรณภูมิ หรือ เขื่อนภูมิพล
ทำป้ายชื่อเป็นทางการไปแล้ว แต่กลับมาขอพระราชทานชื่อในภายหลัง ต้องเสียงบประมาณเปลี่ยนป้ายอีก โดยวิสัยการบริหารงานแบบนี้ถือว่าสอบตก
แล้วจะเรียกความเสียหายคืนจากใคร
อย่าโยงไปถึงพระองค์ท่านครับ เพราะไม่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณด้วยซ้ำที่พระองค์ท่านพระราชทานชื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มาให้
ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม รวมไปถึงรัฐบาลต่างหาก
ที่จะต้องรับผิดชอบ