รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งทุกหน่วยงาน ยธ. เตรียมรับ กม. JSOC ที่จะบังคับใช้ 23 ม.ค. ประสานหน่วยงานต่างๆ-ทดสอบระบบให้เรียบร้อย ก่อนมีนักโทษในข่าย 117 คนพ้นคุก พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ทำคู่มือให้เจ้าหน้าที่
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ที่จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 23 ม.ค. 2566 ว่า
ตนได้เร่งให้เจ้าหน้าที่ในกระทรวงได้เตรียมความพร้อมอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง คือ กรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์
โดยขณะนี้ได้มีการประชุมคณะทำงานร่างกฎหมายลำดับรอง ทั้งร่างกฎกระทรวงกำหนดการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ร่างระเบียบกรม รวมถึงการจัดทำคู่มือแนวทางในการทำงาน และการอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังต้องมีการประสานหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งในกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงอื่นๆด้วย
โดยขณะนี้กระทรวงได้ร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ ซึ่งจะร่วมกันระหว่าง ศาล สำนักงานอัยการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ต้องขังที่เข้าข่าย พ.ร.บ. JSOC นั้น ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ 17,807 คน แบ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ 5,683 คน ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 12,068 คน และ ความผิดต่อเสรีภาพ 56 คน โดยจะมีผู้ที่พ้นโทษได้รับการปล่อยตัวระหว่างวันที่ 23 ม.ค.- 28 ก.พ. 2566 จำนวน 117 ราย
ซึ่งในส่วนนี้จะต้องประสานกับศาลและสำนักอัยการในพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน เผื่อกรณีที่ศาลจะมีคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษหรือคุมขังฉุกเฉิน รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่และอาสาสมัครคุมประพฤติเฝ้าระวัง โดยขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้มีการกำหนดสถานที่คุมขังหลังพ้นโทษออกมาแล้ว
โดยจะเริ่มนำร่องที่ เรือนจำกลางคลองเปรม จากนั้นจะขยายไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ คือ เรือนจำกลางพิษณุโลก เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี เรือนจำกลางระยอง และเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช
“การทำกฎหมายรองและกฎกระทรวงต่างๆ ต้องทำให้ทันกรอบเวลา 90 วัน ทุกกรมต้องทำให้ทัน อย่าให้ขาดตกบกพร่อง และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำลองการทำงานขึ้นมา เพื่อทดสอบระบบต่างๆให้สมบูรณ์ ทำให้เคยชินกับองค์ความรู้ใหม่
นอกจากนี้เราต้องเร่งสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ตัวกฎหมายให้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับทราบ ทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ การลงพื้นที่ในเชิงรุกและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือสังคมให้ได้มากที่สุด” นายสมศักดิ์ กล่าว
หมายเหตุ: ศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (Justice Safety Observation Ad hoc Center: JSOC) หรือ ศูนย์ JSOC จัดตั้งขึ้นเพื่อเฝ้าระวังผู้พ้นโทษด้วยกัน 8 กลุ่ม คือ ฆ่าหรือข่มขืนเด็ก , ฆ่าข่มขืน , ฆาตกรต่อเนื่อง , ฆาตกรโรคจิต , สังหารหมู่ , ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์โดยการฆ่า , เรียกค่าไถ่ และนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ