เปลว สีเงิน
การเมืองเหมือน “หมากรุก”
“ฝ่ายตรงข้าม” ดาหน้ากันขึ้นไปเป็นแผง ทั้งเบี้ย ยันขุน
นายกฯ แค่ขยับโคนตัวเดียว ตาค้างกันทั้งกระดาน!
เมื่อวาน (๙ พย.๖๕๖) ท่านลงนามแต่งตั้ง “ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ ๒๗ ตุลา.
เป็น “ที่ปรึกษาประจำตัว” อีกคน
เท่ากับตอนนี้ นายกฯ มี ๒ ที่ปรึกษา ครบ “แขนซ้าย-แขนขวา”
ข้างหนึ่ง “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” ชำนาญกฎหมาย
อีกข้าง “ดร.ไตรรงค์” ชำนาญเศรษศาสตร์ ที่ปรึกษา “ป๋าเปรม” สมัยป๋าเป็นนายกฯ ๘ ปี
จาก ๘ ปี “ป๋าเปรม” ถึง ๘ ปี “พลเอกประยุทธ์”!
จะใช้คำว่า “ลุงตู่” กับดร.ไตรรงค์ ก็ไม่เหมาะ เพราะนับโดยพรรษา ลุงตู่ เกิด ๒๔๙๗ แต่ดร.ไตรรงค์ เกิด ๒๔๘๗ ห่างกันตั้ง ๑๐ ปี!
ย้อนกลับไปสมัย ๖ ตุลา.ดร.ไตรรงค์ เป็น “เลขาส่วนตัว” ท่านอาจารย์ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์”
ก็อย่างที่บอก ในโลกนี้ไม่มีอะไรบังเอิญ ทุกอย่างถูกจัดสรรลงตัวไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว
อยู่แต่ว่า จะปรากฎ”ตอนไหน-เวลาไหน “เท่านั้น!
ดร.ไตรรงค์ จบเศรษศาสตร์ แต่ไม่บ้าทฤษฎีและติดอยู่ในตำราเหมือนนักเศรษฐศาสตร์-รัฐศาสตร์บางคน
จะเห็นว่า ดร.ไตรรงค์ ต่างกับพวกอาจารย์มากอีโก้ โม้ทฤษฎี ที่ชอบสวมเสื้อนอก ออกจ้อตามจอ
ส่วนใหญ่ พวก “หัวลูกเต๋า” เรียนมา-จำมาอย่างไหน ก็ติดตำราอยู่แค่นั้น ไม่รู้จักพลิกแพลงใช้
ส่วนดร.ไตรรงค์ ท่านทะลุเปลือกตำราในห้องสอน ไปสู่ปฎิบัติการสร้างและพัฒนาชาติ ซึ่งมันคนละโลกกับในตำรา
จดหมายลาออกจากประชาธิปัตย์ของท่าน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงว่า……
“ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง” สักครั้ง!
การมาเป็นที่ปรึกษาให้นายกฯ ในภาวะที่ใครๆ ก็พูดว่า “นายกฯขาลง” ดังนั้น เรื่องตำแหน่ง ลาภ ยศ เลิกพูด
ถ้าอย่างนั้น ดร.ไตรรงค์ มาทำงานให้นายกฯประยุทธ์เพราะอะไร?
เพราะ “ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง” สักครั้ง
และลมหายใจนั้น เคียงลมหายใจพลเอกประยุทธ์
ในความเป็น “คนจริง-นักเลงจริง” เท่านี้…จบ!
๒ ที่ปรึกษาซ้าย-ขวา จะช่วยนายกฯ “สร้างประเทศ” ได้แบบไหน อย่างไร อ่านนี่ซักหน่อยปะไร
…………………………………
ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
#ยุทธศาสตร์ #นโยบาย #การประชุม APEC
เมื่อผมเขียนใน Facebook ชื่นชมว่าประเทศไทยโชคดีที่มีนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย 2 ท่าน ที่เป็นคนซื่อสัตย์
และได้เป็นผู้นำรัฐบาลเป็นระยะเวลานานพอที่จะคิดเรื่องยุทธศาสตร์ระยะยาวให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในอนาคตได้
ก็มีผู้อ่านบางท่านตำหนิว่า…….
นายกฯ ที่ซื่อสัตย์ของไทยมิได้มีเพียง 2 ท่านเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อตำหนิที่ถูกต้องที่สุด
เพราะตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีชื่อเสียเกี่ยวกับการโกงกินคอรัปชั่นอยู่อีกหลายท่าน
เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, นายทวี บุณยเกียรติ, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, นายควง อภัยวงศ์, นายสัญญา ธรรมศักดิ์
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์,นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น
แต่ที่ผมเอ่ยชื่อเพียง 2 ท่าน คือ พล.อ.เปรม และ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น
ผมหมายถึงนายกฯ ที่ซื่อสัตย์ และได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศเป็นระยะยาวติดต่อกัน
จนสามารถมียุทธศาสตร์ มีนโยบาย ในการวางโครงสร้างเพื่อความเจริญและมั่นคงต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้
เช่น พล.อ.เปรม ได้สร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจมาบตาพุด ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
และเป็นคนแรก ที่สั่งให้มียุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับ 3 จังหวัดภาคใต้ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นคนแรก ที่สั่งให้มีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) สร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
รวมทั้งมีการปรับปรุงการคมนาคมทั้งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ มากที่สุดในประวัติศาสตร์
นายกฯ ที่ซื่อสัตย์คนอื่นๆ อาจจะซื่อสัตย์จริง แต่มิได้มีผลงานในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจใดๆ
ไม่มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่ออนาคตประเทศ จึงไม่มีการลงมือทำแผนเพื่อสนองยุทธศาสตร์ที่ให้เห็นได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะในยุคของท่านเหล่านั้น มีเวลาให้ท่านบริหารประเทศสั้นเกินไป
หรืออาจเพราะมีปัญหาเฉพาะหน้าทางการเมืองจากพวกอกหัก คอยก่อกวน จนไม่มีเวลาคิดวางแผนอะไรในระยะยาวให้กับประเทศได้
หรืออาจไม่มีความคิดเช่นนั้นอยู่ในสมองก็เป็นไปได้
ที่น่าเสียดายก็คือ ในช่วงของรัฐบาลเผด็จการของจอมพลป.พิบูลสงคราม รัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และช่วงของรัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส
แต่ละท่าน เป็นผู้นำรัฐบาลในระยะยาวพอสมควร มีเสถียรภาพเพราะได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา
แต่ก็ไม่เคยมีวิสัยทัศน์ที่คิดจะวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้กับประเทศเลย
ช่างแตกต่างจากรัฐบาลของนายพลปักจุงฮี จอมเผด็จการของเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน(พ.ศ.2504-2521)
ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน แต่นายพลปักจุงฮี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล …….
ได้สั่งให้ลูกน้องที่ใกล้ชิดไปจัดการทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ทั้งๆที่ลูกน้องคนนั้นมิได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด
ต้องพูดความจริงกันเสียสักครั้งหนึ่งว่า…..
เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จากประเทศด้อยพัฒนา (Less Developed Country-LDC)
เป็นประเทศพัฒนา (Developed Country – DC)ของหลาย ๆ ประเทศ
ล้วนใช้นักเศรษฐศาสตร์น้อยมาก อาจจะเป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มักติดยึดในทฤษฎีการค้าเสรีตามที่เคยเรียนมาจากประเทศตะวันตก
ซึ่งโลกได้พิสูจน์แล้วว่า การให้ทุกประเทศมีการค้าเสรีตามนโยบาย Washington Consensus ที่คิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันและอังกฤษนั้น
ประเทศเล็กๆ ที่ด้อยพัฒนา มีแต่ถูกสูบเลือด ถูกเอาเปรียบจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
วิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น เพราะการบ้าทฤษฎีเศรษฐกิจเสรีนั้นแหละ
ตัวอย่างประเทศใกล้ตัวของเราที่ใช้นักเศรษฐศาสตร์น้อยมากก็คือ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น นั้น ใช้นักกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ในการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว
ไต้หวัน ใช้วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ ในการวางยุทธศาสตร์ดังกล่าว
เกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกับไต้หวัน ภายใต้การนำของนายพลปักจุงฮี ผู้เป็นเผด็จการยิ่งกว่าจอมพลสฤษดิ์
ปกครองประเทศเกาหลีใต้ติดต่อกันถึง 18 ปี
แต่ปักจุงฮีกลับใช้ผู้ช่วยประธานาธิบดี คือ นายโอ วอนชุล (oh won chul) ซึ่งเป็นวิศวกรให้เป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่างแผนเศรษฐกิจและกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว
นาย Won Chul ได้ร่วมกับวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์อื่นๆอีกประมาณ 20 คน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ด้วยความเห็นชอบของประธานาธิบดี
ว่า#ต้องสร้างประเทศเกาหลีด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้ ก็เพื่อเปลี่ยนประเทศ จากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกรดต่ำๆ ให้กลายเป็นประเทศ ที่สามารถส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมคุณภาพสูง เหนือกว่าคู่แข่งขันใดๆ ในโลกให้ได้
โดยเฉพาะทางด้านการผลิตเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า(Electronics) เหล็กกล้า (Steel) และการก่อสร้างเรือขนาดใหญ่ทั้งเรือสินค้าและเรือรบ (Ship building) เป็นต้น
ยุทธศาสตร์เหล่านี้ ได้ประกาศไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 – 2514)
หลังจากนั้น การกำหนดนโยบายเพื่อวางแผนผลิตแรงงานให้ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต โดยเฉพาะการผลิตวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์
ผู้สำเร็จขั้นกลางระดับอาชีวะที่สามารถจะทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ #จนปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ไม่เป็นสองรองใคร
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของเราก็ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพจริงๆ
คือรู้งานในการทำงานกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศต่างๆ ได้ เมื่อมันเสีย ก็สามารถซ่อมแซมได้ทันที
แรงงานประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียนจบมีดีกรี ตรี โท หรือเอก
ความรู้ความเข้าใจของกลไกทางเทคโนโลยีที่ต้องใช้กับเครื่องจักรสมัยใหม่จากทั่วโลกที่จะมาลงทุนในเขต EEC ต่างหาก ที่สำคัญกว่าสิ่งใดๆ
#จะต้องใช้งบประมาณเท่าใดก็ต้องยอมครับ
นอกจากประเทศไทยต้องมี #นโยบายการศึกษาเพื่อผลิตแรงงานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม เหมือนอย่างที่เกาหลีใต้เคยมีตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดีปักจุงฮี แล้ว
การแลกเปลี่ยนการฝึกแรงงานกับประเทศผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงน่าจะเป็นเรื่องจำเป็นในการทำความตกลงกันให้ได้ในการประชุม APEC ในครั้งนี้ด้วย
…………………………………
ขยับหมากตาเดียว ยังตาค้างกัน
ขยับอีกตา ต้นปีหน้า…
มิตกใจ จน “หลานตา” คลอดก่อนกำหนดรึนั่น!?
เปลว สีเงิน
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕