ผมร่วงเป็นหย่อม ไม่ใช่โรคอันตราย รักษาหายได้

ปัญหาผมร่วง ผมบาง จนทำให้หนังศีรษะล้าน เป็นปัญหาที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ผลกระทบที่ตามมาคือ ทำให้เกิดการสูญเสียความมั่นใจ ส่งผลต่อบุคลิกภาพ ปัจจุบันโรคผมร่วง สามารถรักษาหายได้ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia Areata เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อายุเฉลี่ยที่มักพบคือประมาณ 30 ปี โดยมีอุบัติการณ์การเกิดเท่ากับ 1ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์

บริเวณที่ผมร่วง จะมีขอบเขตที่ชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่ยังสามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่น ๆ ในร่างกายที่มีขนได้ เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือขนบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งโรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้

ปัจจุยันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย โดยเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประวัติภูมิแพ้ เครียด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม และส่งผลให้ผมร่วง อีกทั้งยังพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด โรคโลหิตจางบางชนิด ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วง ซึ่งความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็ก ๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

ทั้งนี้ มักตรวจพบว่าผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม อาจมีภาวะผมหักเป็นตอติดหนังศีรษะ เนื่องจากเส้นผมที่ขึ้นใหม่มีความเปราะและผิดปกติ โดยจะเกิดขึ้นในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย แต่เมื่อโรคสงบแล้วเส้นผมหรือเส้นขนสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้

โรคผมร่วงเป็นหย่อมแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

Alopecia areata (AA) ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ คิ้ว หนวด หรือขนบริเวณลำตัว
Alopecia totalis (AT) ผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมาก จนผมร่วงทั่วศีรษะ หรือเกือบทั่วศีรษะ
Alopecia universalis (AU) ผมร่วงกระจายทั่วศีรษะ ร่วมกับมีขนที่บริเวณลำตัวร่วงไปด้วย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้ โดยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะพิจารณาตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ผมจะงอกขึ้นมาใหม่ได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันที่เป็นสาเหตุร่วม การรักษาโรคภูมิคุ้มกันนั้นจะช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาต่างๆ เช่น

การใช้สเตียรอยด์ โดยมากเป็นการใช้แบบฉีดและแบบทาที่บริเวณรอยโรคร่วมกัน โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
การใช้ยาทากระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณรอยโรค การใช้ยาทารักษาผมร่วง เช่น Minoxidil ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มักมีผลกระทบต่อจิตใจ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นใจและความสวยงาม โดยเฉพาะโรคผมร่วงเป็นหย่อมชนิด Alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด แต่ตอบสนองต่อการรักษาต่าง ๆ น้อยที่สุด จึงแนะนำว่าหากพบว่ามีผมร่วงผิดปกติ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาที่อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับชนิดที่เป็น

แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล
แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี



Written By
More from pp
ร่วมกิจกรรม “Superfan Thailand Festival” เพียงกด Like กด Share อุทยานแห่งชาติภูเรือ
คิดถึง…บรรยากาศดี๋ดี ใน “งานเทศกาลต้นคริสต์มาสภูเรือ” ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย ได้เดินเล่นรับอากาศเย็นๆ และสัมผัสบรรยากาศสุดโรแมนติก ดูคล้ายอยู่เมืองนอก
Read More
0 replies on “ผมร่วงเป็นหย่อม ไม่ใช่โรคอันตราย รักษาหายได้”