23 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 11.01 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สมัยที่ 78 ผ่านการบันทึกเทปวีดิทัศน์ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมเอสแคปในวันนี้ เป็นโอกาสพิเศษที่เอสแคปฉลองครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้ง โดยในวันนี้ โลกและภูมิภาคกำลังเผชิญความท้าทายที่มีความหลากหลายและมีมิติที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น รวมถึงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศเด่นชัดขึ้น และการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อยู่ในภาวะชะงักงัน
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยยึดมั่นและเชื่อมั่นในระบบพหุภาคี สหประชาชาติ และเอสแคปมาตลอด 75 ปีของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และการดำเนินงานของสหประชาชาติและเอสแคปยิ่งทวีความสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตไปด้วยกัน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเสนอ 3 แนวทางเพื่อก้าวข้ามการฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-19 ไปสู่การพัฒนาในภูมิภาคอย่างมั่นคงยั่งยืนในยุค “Next Normal”
หนึ่ง การเติบโตอย่างสมดุล (balanced growth) พลิกโฉมการพัฒนาไปสู่แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สอง การเติบโตอย่างมีภูมิต้านทาน (resilient growth) สร้างความเข้มแข็งในการรับมือต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง
สาม การเติบโตอย่างรอบด้านและครอบคลุม (comprehensive and inclusive growth) ส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ อย่างทั่วถึง การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคและโลก โดยโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริม MSMEs และสตาร์ทอัพ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุค 4IR
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วย การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมทั้งการพัฒนาคนทุกช่วงวัยผ่านการศึกษาทุกรูปแบบ และการเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตไปด้วยกัน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยยึดแนวทางทั้งสามประการในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและก้าวสู่ยุค “Next Normal” และมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจในการพัฒนา และนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย พร้อมมุ่งสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังวิกฤตโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ด้วย
ซึ่งไทยมี EEC ที่ส่งเสริมและรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย ความเชื่อมโยง และความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็นและขยายให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมรวมถึงแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งช่วยให้ไทยรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงพร้อมร่วมมือเพิ่มความเข้มแข็งให้สาธารณสุขโลก
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เอสแคปสามารถมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาค รวบรวมองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนระดมทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของเราต่อไป โดยไทยอยากเห็นเอสแคปพัฒนาศักยภาพไปสู่องค์กรที่สามารถใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ในการคาดการณ์และแจ้งเตือนวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศสมาชิกเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของเอสแคป และเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สร้างสรรค์ เพื่อบรรลุ “วาระร่วมกัน” ในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับคนทุกรุ่น ซึ่งเป็น “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ของเราทุกคน