เปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัด ด้วยนวัตกรรม TAVI ลดความเจ็บปวดและไร้แผลผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวและกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติเร็วขึ้น
นายแพทย์อนุรักษ์ เจียมอนุกูลกิจ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านการขยายหลอดเลือดและหัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ลิ้นหัวใจเป็นเนื้อเยื่อที่กั้นระหว่างห้องหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าลิ้นหัวใจมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจตีบ ตัน รั่ว เสื่อมสภาพ มีไขมันหรือหินปูนเกาะ จนลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่สนิท ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีหรือระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิตได้
“ภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ทั้งความเสื่อมตามอายุ มีไขมันหรือหินปูนเกาะ จนทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจนเกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบรุนแรง พบได้บ่อยในลิ้นหัวใจเอออร์ติก ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ โดยจะทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืดเป็นลมบ่อย และอ่อนแรง หากปล่อยไว้หัวใจจะทำงานหนักขึ้น ผนังหัวใจหนาตัวและนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด” นายแพทย์อนุรักษ์กล่าว
ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือในรายที่ไม่สามารถซ่อมได้ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งมีทั้งวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานและการผ่าตัดส่องกล้อง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยไม่ได้ต้องผ่าตัด หรือ TAVI (Trans Catheter Aortic Valve Implantation) คือการใช้สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ แล้วใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดกับขดลวดพิเศษ ส่งขึ้นไปถึงตำแหน่งลิ้นหัวใจเอออร์ติกด้วยระบบท่อนำทาง (delivery system) จากนั้นปล่อยลิ้นหัวใจเทียมให้กางออกเพื่อทำหน้าที่แทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลผ่าตัดที่บริเวณหน้าอกหรือใต้ราวนมเหมือนกันผ่าตัดแบบมาตรฐานหรือผ่าตัดส่องกล้อง จะมีเพียงแผลที่บริเวณขาหนีบจากการใส่สายสวนเท่านั้น
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยวิธี TAVI นอกจากผู้ป่วยจะไม่มีแผลผ่าตัดแล้ว ยังช่วยลดความเจ็บปวดในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ แต่ข้อจำกัดของการรักษาด้วยวิธี TAVI คือ อายุของลิ้นหัวใจเทียมจะสั้นกว่าการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยวิธีผ่าตัดแบบมาตรฐาน และอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ หัวใจเต้นช้า จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่อายุ 75 ปีขึ้นไป และสามารถใช้รักษาได้กับลิ้นหัวใจเอออร์ติกเท่านั้น