ผักกาดหอม
เรียบร้อยไปครับ….
วานนี้ (๑๐ กันยายน) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑ ในวาระที่ ๓
เห็นด้วย ๔๗๒ เสียง
แบ่งเป็นเสียงจาก ส.ส. ๓๒๓ เสียง
ส.ว. ๑๔๙ เสียง
ไม่เห็นด้วย ๓๓ เสียง
ประกอบด้วย ส.ส. ๒๓ เสียง
ส.ว. ๑๐ เสียง
งดออกเสียง ๑๘๗ เสียง
แบ่งเป็น ส.ส. ๑๒๑ เสียง
และ ส.ว. ๖๖ เสียง
คะแนนที่ออกมาผ่านทั้ง ๓ เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คือ ๑.มากกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กึ่งหนึ่งคือ ๓๖๕ คะแนน ดังนั้น คะแนน ๔๗๒ เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง
เงื่อนไขที่ ๒ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกสภา จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา
ซึ่งกลุ่มนี้ลงมติเห็นชอบ ๑๔๒ เสียง มากกว่าร้อยละ ๒๐ คือ ๔๙ คะแนน
ดังนั้นคะแนนที่ได้เกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ ถือว่าผ่านเงื่อนไขนี้
และสุดท้ายเงื่อนไขที่ ๓ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของ ส.ว.ซึ่งก็คือ ๘๔ คน
ขณะที่มี ส.ว.ลงมติ รับร่างรัฐธรรมนูญ ๑๔๙ เสียง
ก็เป็นอันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง ใช้บัตร ๒ ใบ คือ เลือก ส.ส.เขต ๑ ใบ และปาร์ตี้ลิสต์อีก ๑ ใบ อีกครั้ง หลังใช้ระบบนี้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ผ่านเรียบร้อย
มีความกังวลว่า เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ระบอบทักษิณ จะกลับมาอีกหรือไม่
การเลือกตั้งวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๔
พรรคไทยรักไทย ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๔๘ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๒๐๐ คน รวม ๒๔๗ คน
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๓๑ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๙๗ คน รวม ๑๒๘ คน
การเลือกตั้งวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘
พรรคไทยรักไทย ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๖๗ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๓๑๐ คน รวม ๓๗๗ คน
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๒๖ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๗๐ คน รวม ๙๖ คน
การเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐
พรคพลังประชาชน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๓๔ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๑๙๙ คน รวม ๒๓๓ คน
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๓๓ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๑๓๑ คน รวม ๑๖๔ คน
การเลือกตั้งวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๖๑ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๒๐๔ คน รวม ๒๖๕ คน
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๔๔ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๑๑๕ คน รวม ๑๕๙ คน
ทุกครั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ พรรคระบอบทักษิณ ชนะเพราะอะไร?
และทำไมถึงมีความเชื่อว่าระบบทักษิณจะกลับมา หากแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตร ๒ ใบอีกครั้ง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเพื่อไทยยังคงได้เก้าอี้ ส.ส.มากที่สุด
การเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่ที่นั่งเดียว แต่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต ๑๓๖ คน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑๙ คน ส.ส.แบบแบ่งเขต ๙๗ คน รวมได้ ส.ส. ๑๑๖ ที่นั่ง
และอย่าลืมว่า ส.ส.พลังประชารัฐ ค่อนพรรคแตกมาจากพรรคเพื่อไทย
ฉะนั้น บัตรกี่ใบอาจสำคัญรองจาก พฤติกรรมการเลือก ส.ส.ของประชาชน
การเลือกตั้งบัตร ๒ ใบเมื่อปี ๒๕๕๐ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ
พรรคพลังประชาชน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๓๔ คน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๓๓ คน
ห่างกันแค่คนเดียว
ขณะที่พรรคพลังประชาชน ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต ๑๙๙ คน แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง ๑๓๑ คน
นั่นเพราะคะแนนเลือกพรรคสูสีเป็นประวัติการณ์
พรรคพลังประชาชนได้เสียงโหวต ๑๒,๓๓๘,๙๐๓ เสียง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ ๑๒,๑๔๘,๕๐๔ เสียง
ฉะนั้นระบอบทักษิณจะกลับมาหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ระบบเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ประชาชนเลือกใคร อย่างไร เพราะอะไรด้วย
ว่ากันว่าที่ประชุมรัฐสภาวันที่ ๑๐ กันยายน หักปากกาเซียน ลงมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร ๒ ใบ
เพราะเดิมทีคาดว่ารัฐบาลและ ส.ว.จะโหวตคว่ำ เนื่องจากเกรงว่าระบบบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบจะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายอีกครั้ง
แต่ผลโหวตกลับไม่เป็นอย่างที่คิด
พรรคพลังประชารัฐลงมติเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้นกลุ่ม “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่หายหัวยกแก๊ง
ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ไปในทิศทางเดียวกัน
ไฮไลต์อยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา
เกจิหลายสำนักฟันธงร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเพราะ ส.ว.คว่ำ
โหวตไม่ถึง ๑ ใน ๓ คือ ๘๔ เสียงแน่นอน
แต่…ผลโหวต ส.ว.เห็นชอบ ท่วมท้นถึง ๑๔๙ เสียง
อะไรไม่สำคัญเท่า ส.ว.สาย “ลุงตู่-ลุงป้อม” ต่างโหวตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
คือลงมติเห็นชอบ
มีเพียงกลุ่มอดีต ๔๐ ส.ว. ตวง อันทะไชย, ถวิล เปลี่ยนศรี, คำนูณ สิทธิสมาน, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, เสรี สุวรรณภานนท์ และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ที่สู้กับระบอบทักษิณมาโดยตลอด เป็นฝ่ายโหวตคว่ำ
พลังประชารัฐในวันที่ไม่มี “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ถูกวิจารณ์ว่ากลับมายาก ทำไมถึงต้องการระบบบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ เหมือนพรรคใหญ่พรรคอื่น
ยกเว้นพรรคก้าวไกลที่เสียหายมากที่สุด เพราะพรรคอนาคตใหม่แจ้งเกิดจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ หากใช้ระบบบัตร ๒ ใบเตรียมเอา ๒ หาร
การวางหมากที่ไม่ใช้ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถือเป็นการเปลี่ยนหลักคิดไปมากพอสมควร
เพราะก่อนนี้ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ขึ้นหม้อ พาพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งซ่อมมาทุกสนาม
นี่อาจเป็นผลมาจากการประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า เงื่อนไขการหาเสียงจะเปลี่ยนไปจากอดีตแทบจะสิ้นเชิง
รัฐบาลลุงตู่มีเวลาอีกปีกว่า ในการกอบกู้เศรษฐกิจจากโควิด และในกระบวนการนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน “ธรรมนัส พรหมเผ่า” แต่อย่างใด
หากแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จ ยังมีปัญหาใหญ่มากที่ต้องแก้คือ ขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ การเปลี่ยนระบอบการปกครอง
เมื่อมองในมุมกลับ ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ อาจสร้างปัญหาไม่ให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขชนะการเลือกตั้งถล่มทลายได้เช่นกัน
เพราะคะแนนชนเพดานจนไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม
แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่เงื่อนเวลาปีกว่าหลังจากนี้ หลังสลัดเห็บออกไปบ้างแล้วรัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศหรือไม่
อยู่ที่ “ลุงตู่” แล้วครับ.