เตือนภัยยาเสพติดทำให้ผู้เสพขาดสติ แนะครอบครัวระมัดระวัง เร่งพาไปบำบัดก่อนจะสาย

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยยาเสพติดทำให้ผู้เสพขาดสติ มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง แนะครอบครัวที่มีผู้เสพยา ต้องระมัดระวังตนเอง รีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกระแสข่าวการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาและสารเสพติดบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย พ่อแม่ หรือบุคคลในครอบครัวซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายได้รับยาและสารเสพติดเป็นระยะเวลานาน ยาและสารเสพติดจะเข้าไปทำลายสมองในส่วนที่ควบคุมการใช้ความคิด ส่งผลให้สมองส่วนอยากอยู่เหนือสมองส่วนคิด ทำให้ผู้เสพทำอะไรตามใจ ตามอารมณ์ แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หมกมุ่นและจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสพยา ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัว ควรพูดคุยบอกกล่าวถึงอันตรายที่จะตามมาทั้งนี้ต้องระมัดระวังตนเอง หมั่นสังเกตพฤติกรรมหากพบมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหาทางช่วยเหลือ หรือรีบพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

โดยสามารถขอรับคำปรึกษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเข้ารับการบำบัดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลาและปัตตานี

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า  สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เป็นหน่วยงานหลักของกรมการแพทย์ ที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติด ซึ่งกระบวนการบำบัดรักษาไม่ได้ยุ่งยากหรือน่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน

ซึ่งการบำบัดรักษามี 2 รูปแบบ คือ แบบผู้ป่วยนอก รักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไปกลับใช้กระบวนการรักษาทางกาย การปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และ แบบผู้ป่วยใน เน้นกระบวนการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง มีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบจะได้รับการดูแลจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ให้การบำบัดรักษาอาการขาดยา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกาย ทางจิต โดยการให้ยาจนอาการดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และจิตใจ


ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง รู้จักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธยาเสพติด รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เจตคติในการเลิกเสพยาเสพติดได้ ใช้เวลาในการบำบัดรักษาอย่างน้อย 3 – 4 เดือน และติดตามดูแลช่วยเหลือหลังผ่านการบำบัดประมาณ 1 ปี เพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีก

นอกจากนี้ สบยช. ยังให้ความสำคัญกับการฝึกวิชาชีพต่างๆ เช่น เสริมสวยหญิง ตัดผมชาย งานเกษตร งานคอมพิวเตอร์ โดยผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

Written By
More from pp
โฆษกเพื่อไทย ชี้รัฐบาลเลือกปฏิบัติ เหตุสลายชุมนุม 28 มี.ค. พร้อมเรียกร้องนายกฯ แสดงท่าทีชัดเจนต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
29 มีนาคม 2564 ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความกังวลการสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามหลักสันติวิธีสากลและไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
Read More
0 replies on “เตือนภัยยาเสพติดทำให้ผู้เสพขาดสติ แนะครอบครัวระมัดระวัง เร่งพาไปบำบัดก่อนจะสาย”