นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วม จ. นครราชสีมา ให้สำรวจความเสียหาย เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาประชาชน พร้อมฟื้นฟูสาธารณูปโภคทันที

19 ตุลาคม 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมคณะ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ. นครราชสีมา เพื่อติดตามการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

โดยจุดแรก คือ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า จ.นครราชสีมา แก้ไขปัญหาน้ำท่วม อำเภอปักธงชัย ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ยังคงมี 9 อำเภอที่ยังได้รับผลกระทบ ได้แก่

อ.ปากช่อง อ. โชคชัย อ. สูงเนิน อ. เนินสูง อ. เมือง อ. พิมาย อ. ขามทะเลสอ อ. เสิงสาง อ. ปักธงชัย ซึ่งจังหวัดได้ร่วมกับองค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน สมาคม มูลนิธิ ได้ให้ความช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเองติดตามรายงานทุกวันและทราบดีว่าทุกคนทำงานอย่างหนัก จึงตั้งใจมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งมหาดไทย กรมชลประทาน คมนาคมและหน่วยงาน ทราบว่าจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมและคลี่คลายแล้วเหลือเพียง 11 จังหวัดจาก 28 จังหวัดสาเหตุมาจากอิทธิพลพายุดีเพรสชั่น

รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัย ขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าตามภาระหน้าที่หลายอย่าง ทั้งการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย การควบคุมการสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่รอบประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วยมาตรการผ่อนปรนต่างๆ สำหรับสถานการณ์ในกรุงเทพ ฯ นั้น ทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวังอย่าให้เหตุการณ์บานปลาย

รัฐบาลไม่มุ่งหวังใช้ความรุนแรงทั้งสิ้นและดำเนินการทุกอย่างตามมาตรฐานสากล ขอเพียงให้ทุกคนช่วยกันรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ก็จะทำให้ไทยผ่านพ้นไปด้วยดี

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการถอดบทเรียนการทำงานว่า แม้วันนี้อ่างเก็บน้ำจะมีน้ำมากขึ้น แต่จำเป็นต้องมีการพร่องน้ำในบางแหล่งเก็บน้ำที่มีปริมาณมากเกินความจุ ซึ่งการระบายน้ำ การพร่องน้ำจะต้องไม่กระทบต่อพี่น้องประชาชนหรือสถานที่สำคัญ อาทิ ชุมชน หมู่บ้าน โรงพยาบาล พร้อมเสนอแนะให้พื้นที่จัดหาทุ่งรับน้ำ เช่นเดียวกับที่จังหวัดอยุธยาหรือ อยุธยาโมเดล

ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยและรับสั่งว่า เราบังคับธรรมชาติไม่ได้แต่ต้องอยู่กับน้ำให้ได้ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม รัฐบาลจึงมีนโยบายสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมเช่นเดียวกับเบ้าขนมครก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการสำรวจเส้นทางระบายน้ำ ดูแลการจราจรไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของประชาชน การแจกจ่ายเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับประชาชน


รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เพื่อการสื่อสารให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ได้ เช่น เครือข่ายวิทยุ นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน ในการเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยจากน้ำ จากไฟ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยา ช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันที

นายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงท้ายว่า อยากใช้โอกาสนี้สร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานตามที่วางยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ ขณะนี้ไทยอยู่ในระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ผ่านมาไม่มีอะไรเสียหาย และมั่นใจว่าไทยจะดีขึ้นเรื่อย

แม้รัฐบาลต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 น้ำท่วม วิกฤตเศรษฐกิจและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้สามารถแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภา พร้อมย้ำในช่วงท้ายว่าไม่เคยทำอะไรเพื่อตนเอง ฝากให้ทุกคนช่วยกันคิดร่วมกันเดินหน้าบ้านเมือง

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางต่อไปที่เทศบาลนครเมือง เมืองปักธงชัย เพื่อมอบ อาหาร น้ำดื่มและของใช้จำเป็นให้แก่ประชาชน พร้อมทักทายให้กำลังใจประชาชนก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครหลังเสร็จภารกิจ

0 replies on “นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วม จ. นครราชสีมา ให้สำรวจความเสียหาย เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาประชาชน พร้อมฟื้นฟูสาธารณูปโภคทันที”