“พระผู้ไม่ทอดทิ้งประชาชน”

ก็พลอยปีติยินดีไปด้วย……

กับพี่น้องชาวใต้ “นราธิวาส-ปัตตานี-ยะลา-สงขลา” ที่มีโอกาสได้รับเสด็จฯ
“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี” พระผู้ซึ่งเป็นแก้วตา-ดวงใจของมวลพสกนิกรไทยทั้งมวลในโอกาสเสด็จฯไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ใน ๔ จังหวัดดังกล่าว ระหว่าง ๒๑-๒๔ กันยา.

โดยเสด็จฯ ถึง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นราธิวาส” เป็นจุดแรก
ทรงประทับแรม ณ ศูนย์พิกุลทอง
๔ วันนี้ เสด็จฯ ไปทรงงาน, เยี่ยมเยียนชาวบ้าน, ข้าราชการ, ทหาร-ตำรวจ ที่นราธิวาส, ปัตตานี ,ยะลา และสงขลา

ดูตามหมายกำหนดการแต่ละแห่งแล้ว ที่นราธิวาส ทรงไปติดตามงานเกี่ยวกับการทำมาหากินชาวบ้าน ที่สมเด็จพระบรมราชชนก “รัชกาล ที่ ๙” ทรงริเริ่มโครงการให้ไว้เป็นส่วนใหญ่

อย่างวันแรก ๒๑ กันยา.เสด็จฯ ถึงนราธิวาสปุ๊บ
ทรงเดินทางไปต่อที่แปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นดินเปรี้ยวจัด บ้านโคกชุมบก ตากใบ นราธิวาสทันที

ที่ผมนำมาเล่านี่ เป็นตัวอย่างเท่านั้น ดูตามกำหนดการในแต่ละวัน แทบไม่มีช่องว่างเวลาให้ทรงพักหายใจยาวๆ เลย

ในภาคใต้ โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดใต้…….
“นราธิวาส” จะเป็นจังหวัดที่มีคนจากจังหวัดอื่นไปเที่ยว ไปธุรกิจ ไปเยี่ยมเยียนน้อยที่สุด ในความเห็นผมนะ

ผมเอง ไปใต้ทุกปี ส่วนใหญ่ก็ไปแค่ยะลา-ปัตตานี น้อยครั้งจะได้ไปถึงนราธิวาส
ผมรักและนับถือหัวใจพี่น้องนราธิวาสมาก
“นราธิวาส” ที่เป็น “นราธิวาส” อยู่ถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยหัวจิต-หัวใจอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องไทยมุสลิม, ไทยพุทธ ทุกคน ที่ไม่ทิ้งถิ่น
ไม่เพียงปัญหาเศรษฐกิจ, สังคม และการก่อการร้ายนั้น ที่โหดร้ายกับพี่น้องนราธิวาสมากที่สุดคือ
ปัญหาที่ดินทำกิน ที่ถูกธรรมชาติรังแก

“ป่าพรุ” ไม่ว่าพรุโต๊ะแดง พรุบาเจาะ ๒-๓ แสนไร่ ใช้ทำกินไม่ได้เลย ทั้งน้ำท่วมขังตลอดตาปี-สีตาชาติ
ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณสุดประมาณของ “สมเด็จพระบรมราชชนก” และ “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดยแท้

ทั้งสองพระองค์ เสด็จฯ ไปทรงแก้ปัญหาเหล่านั้น พลิกฟื้นพื้นที่สูญเปล่านับแสนๆ ไร่นั้น ให้กลับมาได้ใช้เป็นที่เพาะปลูก ทำไร่-ทำนา และเลี้ยงสัตว์
สุขด้วยพอเพียงมาถึงทุกวันนี้!

“ป่าพรุ” สภาพนั้น ไม่ใช่เพิ่งเป็น หากแต่สะสมเป็นมานับพันๆ ปี
ระหว่างปี พศ.๒๕๑๖-๒๕๑๘ “พระบรมราชชนก” เสด็จฯ ไปทรงศึกษาพื้นที่ ทรงหาวิธีแก้ไข เพื่อพลิกฟื้นป่าพรุ ให้ชาวบ้านใช้ทำประโยชน์ได้

เมื่อทรงพบวิธีและแก้ได้สำเร็จ ก็ทรงพบปัญหาใหม่ คือเมื่อขุดคลองระบายน้ำจากป่าพรุแล้ว พบว่า ดิน ๒-๓ แสนไร่นั้น
เป็น “ดินเปรี้ยวจัด” ใช้เพาะปลูกไม่ได้!
หมดปัญหาหนึ่ง ก็มีปัญหาใหม่ให้ทรงต้องหาวิธีแก้อีก
ว่าดินเปรี้ยวหรือดินกรด ที่เกิดจากการทับถ่มของตะกอน นํ้ากร่อยเป็นพันๆ ปี จะแก้อย่างไร?

เรื่องดินเปรี้ยวนี่ เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นประจำ ก็ควรทราบไว้ด้วย ว่ามีโอกาสเปลี่ยนสภาพดินให้เป็น “ดินเปรี้ยว” ได้
คงได้ยืนชื่อ “โครงการแกล้งดิน” กันบ้างใช่มั้ย?

นี่แหละ “สมเด็จพระบรมราชชนก” ทรงตั้งโครงการนี้ ก็สืบเนื่องมาจากปัญหา “ดินเปรี้ยวจัด” นี่แหละ
คือใช้เวลาจากปี ๑๖-๑๘ กู้สภาพป่าพรุคืนมาได้แล้ว ก็มาเจอปัญหาดินเปรี้ยว
ก็ทรงตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส” ขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัด “กรมพัฒนาที่ดิน

พูดถึง “กรมพัฒนาที่ดิน” ชั่วโมงนี้ กรมนี้ เป็นหัวใจในการปฏิรูปผืนดินสู่การเกษตรทิศทางใหม่

“นางสาวเบญจพร ชาครานนท์” เป็นอธิบดีหญิงที่รับภารกิจสู่อนาคตใหม่ของเกษตรกรฐานรากที่น่าจับตา

“กรมพัฒนาที่ดิน”…….
ไม่ต้องอะไรมาก แค่ทำให้สมชื่อกรม เกษตรกร ชาวไร่-ชาวนา รอด ประเทศชาติก็รอดแล้ว!

เห็น “กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ” เสด็จฯไปทรงงานภาคใต้แล้ว โดยเฉพาะ เสด็จฯ ไปประทับที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง นราธิวาส

ดีใจกับพี่น้องใต้ ดีใจกับพี่น้องนราธิวาส ที่เสด็จฯ มาเยือนเป็นร่มเงา มาทรงติดตามงานโครงการพระราชดำริ ที่ “สมเด็จพระบรมราชชนก” ทรงทำไว้เพื่อชาวบ้านมากมายหลายแห่ง

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริ นราธิวาส” แห่งนี้
เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ว่าด้วยโครงการแกล้งดิน ว่าด้วยดินเปรี้ยว ว่าด้วยป่าพรุที่สูญค่าพลิกฟื้นให้กลับมามากค่า ซึ่งไม่เพียงเป็นโครงการตามพระราชดำริเท่านั้น

หากแต่เป็นงานที่เกิดจาก “แรงกาย-แรงใจ” ของสมเด็จพระบรมราชชนกเพื่อพสกนิกรของพระองค์โดยตรง
ทรงบุกป่าฝ่าดงและทรงปีนเขาขี้นไปสำรวจครั้งแล้ว-ครั้งเล่าตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งข้าราชการและชาวบ้านเอง ยังไม่กล้าบุกไปถึงที่นั้นๆ มาก่อน

นับจากปี ๒๕๑๖ จนถึงปี ๒๕๓๓ ทรงพระอุตสาหะ-วิริยะเพื่อพสกนิกรของพระองค์มีสุขในการทำมาหากิน
เป็นเวลา ๑๗ ปี ……
ทรงตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง” ที่ “กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ” ประทับแรมอยู่ขณะนี้นี่แหละ

เพื่อศึกษา, ทดสอบ, วิจัย, เก็บข้อมูล และลงมือทำ พลิกป่าพรุไร้ค่า ๓ แสนไร่ กลับเป็นพื้นที่มากค่า ๓ แสนไร่ สำหรับชาวบ้านได้ทำไร่-ทำนา ทำการเกษตรต่างๆ และเลี้ยงสัตว์

รวมทั้ง แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งได้วิทยาการแกล้งดิน, วิทยาการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัด งอกเงยเป็นของแถม

พวกเราทั้งหลาย ต้องรักและเป็นกำลังใจให้พี่น้องไทยมุสลิม, ไทยพุทธ ที่จังหวัดนราธิวาสให้มากๆ นะ มีเวลาและโอกาส ก็ไปเที่ยว ไปเยี่ยมเยียนกัน

อย่าไปบ้าตามข่าวให้มากนัก บ้านเมืองนราธิวาสสงบน่าอยู่ มีสถานที่สวยงามน่าเที่ยวเยอแยะ มีผลไม้อร่อย มีผู้คนน่ารัก ไม่มีอะไรอย่างที่กลัวกัน

ถนน “หาดใหญ่-สงขลา-ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส” ใหญ่โต กว้างขวาง ปรู๊ดปร๊าดเชื่อมถึงกันหมด

อีกไม่กี่วัน “สนามบินเบตง” เปิด จะไปเที่ยว ๓-๔ จังหวัดนี้ ยิ่งสะดวก
ลงหาดใหญ่แล้วล่องไปก็ได้ หรือจะไปเที่ยวเบตงก่อน จากเบตงเข้าตัวยะลา จากนั้น อยากไปไหนๆ ก็ไป ก็แสนสุขใจ หายห่วง

ที่ผมหายไป ๒-๓ วันก่อน ก็ไปใต้นี่แหละ ปกติ ผมต้องไปไหว้ “หลวงพ่อทวด” ที่วัดช้างให้ ปัตตานี อย่างน้อยปีละครั้งอยู่แล้ว
พอดีคุณบรรพต หงษ์ทอง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ ท่านชวนไปไหว้พระมหาธาตุ ที่นครศรีฯ ก็ถือโอกาสไปกับท่าน

กะว่าไหว้พระมหาธาตุแล้ว ก็นั่งรถล่องเข้าสงขลา นอนซักคืน รุ่งเช้า ก็ไปไหว้หลวงพ่อทวด ที่วัดช้างให้ ปัตตานี
ก็บังเอิญในโชค…….
ได้พบท่าน “ชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์” อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมาไหว้พระมหาธาตุ ช่วงงานเปรตเดือน ๑๐ ของชาวใต้พอดี

“ศูนย์พัฒนาการศึกษาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นราธิวาส”
ท่านเป็นคนแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นผู้อำนวยการ ได้ทำงานอยู่ใต้เบื้องพระบาทสมเด็จพระบรมมหาชนก ในการแก้ปัญหาป่าพรุ, ดินเปรี้ยว และโครงการแกล้งดินมาโดยตลอด

ท่านชัยวัฒน์ รับราชการอยู่นราธิวาสกว่า ๒๐ ปี น่าจะย้ายเข้ากรุงก็ตอนเป็นอธิบดีนี่แหละ
ภรรยาเป็นคนใต้ ท่านเป็นคนจันทบุรี แต่ใจสั่ง ทุกวันนี้ต้องขึ้น-ล่องไปอยู่ใต้ เป็นรายเดือน-รายอาทิตย์

นี่ยังชวนผมไปเที่ยวนราธิวาส ก็ไม่รอให้ชวนซ้ำสอง รีบทึกทักรับนิมนต์ทันที เพราะอยากไป “ค้างคืน” ที่นราธิวาสมานานแล้วนี่นา

พูดถึงนครศรีฯ เป็นเมือง “เหนือปาฏิหาริย์” จริงๆ ที่ไหนๆ เศรษฐกิจแย่ แต่ที่นครศรีฯ หมดจากจตุคามเสริมรวย ก็มีไอ้ไข่มาช่วยเสริมต่อ
เครื่องบินทุกสาย แน่นเป็นรถเมล์ ไปนครศรีฯ เพื่อไปไหว้ไอ้ไข่

ตั้งใจไปไว้พระมหาธาตุ แต่เข้าไม่ถึง เพราะช่วงเทศกาล ถนนหนทางคราคร่ำไปด้วยรถและผู้คน มุ่งหน้างานบุญ ต้องตั้งจิตไหว้อยู่บนรถ

บ้านไหน-เมืองไหน ถ้าวัฒนธรรมแข็ง ชาวบ้านยังยึดมั่นประเพณี มีแต่เจริญขึ้น ไม่ตก-ไม่ต่ำ

อย่างเช่นเมืองใต้ ไม่ว่านครศรีฯ-สงขลา-ปัตตานี เท่าที่ผมเห็นด้วยตาสัปดาห์ก่อน ชื่นชมและดีใจ ไม่ว่าคนรุ่นใหม่-รุ่นเก่า เหนียวแน่นในงานบุญประเพณี
ปลื้มน้ำตาไหล ยกมือไหว้หัวใจพี่น้องใต้ทุกคน!

เศรษฐกิจใต้ ยังไปได้ ไม่เลวร้ายอย่างที่เข้าใจกัน
ผู้คนยังออกมาจับจ่ายใช้สอย เที่ยว, กิน รอยยิ้มยังมีอยู่ในใบหน้าและแววตาผู้คน
ไปกินข้าวร้านกุ๊กฉิ๋ม ๑๒ คน ผู้คนมากมายยังกะกินฟรี กินจนพุงกาง คิดเงิน ๙๐๐ กว่าบาท ท่านปลัดบรรพตรับเป็นเจ้าภาพทันที!

ที่สมเจตนาคือได้ฝ่าสายฝนไปไหว้หลวงพ่อทวด และที่ดีใจ คือ ปีนี้ มีคนมาไหว้หลวงพ่อทวดคึกคักมากมายกว่าทุกปี
ถวายประทัด “หลวงพ่อทวด” แล้ว ผลออกมา ประเทศชาติจะกระเดื่องเกียรติ โด่งดัง ลูกหลานไทย ที่มั่นในสุจริตธรรม จะจำเริญ รุ่งเรือง
รับบารมี” หลวงพ่อทวด” ด้วยกันทุกคนเน้อ.


Written By
More from plew
จาก “ตะรางคน” ถึง “ตารางบิน”
วันนี้ “ไม่คุย” แต่จะนำ “ข่าวสารที่รอคอย” มาบอก ๒-๓ เรื่อง เรื่องที่ ๑ วันนี้ ๖ ก.พ.เวลา...
Read More
0 replies on ““พระผู้ไม่ทอดทิ้งประชาชน””