นวัตกรรม “กล่องข้าวน้อยให้แม่”

วันนี้ พุธ ๑๘ กันยา.
ฝ่ายค้านอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ประเด็น “นายกฯถวายสัตย์ฯ” ส่งท้ายก่อนปิดสมัยประชุม
เข้าใจว่า เรตติ้งกระฉูดแน่!
คนอยากรู้ ว่าฝ่ายค้านจะกอดคอกระชากเข่าใส่นายกฯได้หงายท้อง-หงายไส้หรือไม่
ในเมื่อ เรื่องถวายสัตย์ปฏิญานประเด็น “ครบ-ไม่ครบ” จบไปแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญ “ยกคำร้อง”
และคนก็อยากดู ว่านายกฯ ที่หักอกนักเลือกตั้งระบอบทักษิณ จะลุยแลกหรือดักจังหวะสองหักศอก
ครับ…ว่างก็เปิดโทรทัศน์ดูกัน
แต่ถ้ามีงานอื่นต้องทำ ก็ทำไปเถอะ มันสำคัญกว่าเรื่องคนการเมืองสำรอกอยู่แล้ว!
เช่น เรื่องช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเป็นต้น ไม่เพียงที่อุบล “ภาคอีสาน” เท่านั้น ภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ตราด ก็หนักหนาเช่นกัน
น้ำท่วมปีนี้ มีอะไรๆ น่าภูมิใจเกิดขึ้นในแวดวงศึกษาว่าด้วยการพัฒนา-วิจัย ซึ่งผมดีใจว่า ผลงานของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยแห่งนี้
จะรองรับด้านการช่วยเหลือมนุษยชาติในภาวะฉุกเฉินต่อไปในอนาคตได้ดีที่สุด!
มันคืออย่างไร อ่านนี่ละกัน…..
“ไทยพีบีเอสออนไลน์” สัมภาษณ์ “ดร.อัศวิน อมรสิน” อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยแพร่เมื่อ ๑๔ กันยา.๖๒ ใจความว่า
ดร.อัศวิน ทราบข่าวน้ำท่วม ก็คิดช่วยเหลือตามความสามารถที่มีอยู่ จึงผลิต “ข้าวเหนียวหมูย่าง” สเตอริไลซ์ ที่ไม่เน่าไม่เสีย ในโครงการ “กล่องข้าวน้อยให้แม่”


โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานท้องถิ่นจ.ยโสธรเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่”
ที่อัดข้าวเหนียวไว้แน่นในกล่องข้าวเล็กๆ จนดูเหมือนมีน้อย แล้วลูกก็ฆ่าแม่เพราะโมโหหิว แต่สุดท้าย ก็กินข้าวไม่หมด
“ข้าวเหนียวหมูย่าง” ที่ผลิตขึ้นนี้ มีบรรจุภัณฑ์ที่เล็ก ขนส่งง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยข้าวเหนียว ๑๒๐ กรัม หมูย่าง ๕๐ กรัม จะช่วยให้ผู้ประสบอุทกภัยอิ่มแน่นอน
สำหรับกระบวนการผลิต ได้เริ่มรวบรวมบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบ เงินบริจาค เพื่อเป็นทุนจัดหาวัตถุดิบ และจิตอาสาตั้งแต่วันที่ ๑๑ ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยจิตอาสาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในภาควิชาฯ ที่อยู่ในช่วงเตรียมสอบ แต่ทุกคนก็พร้อมใจมาช่วยผลิตเพื่อส่งต่อให้ผู้ประสบอุทกภัย
ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ ผู้ประกอบการที่ทราบว่าจะนำไปช่วยเหลือชาวอุบลฯหลายร้านก็ร่วมบริจาควัตถุดิบ และลดราคาสินค้าให้
“เงินบริจาคเราเปิดรับไม่นาน แต่เงินที่ได้ มันเกินคาดมาก ได้มาเป็นเงินแสน
ไม่คิดว่าคนจะยอมโอนเงินหลักพัน มาช่วยเหลือคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแบบนี้ รู้สึกดีใจมาก แล้วก็อยากผลิตกล่องข้าวน้อยให้แม่ออกมาอย่างดีที่สุด”


ดร.อัศวิน เผยความรู้สึกจากใจ ก่อนกล่าวต่อว่า
เมื่อได้วัตถุดับและจิตอาสามาแล้ว ก็นึ่งข้าวเหนียว และหมักหมู ก่อนนำไปย่างและแพ็กใส่บรรจุภัณฑ์อย่างดี
จากนั้น นำไปซีล เข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน
เพราะการอัดตัวของข้าวเหนียวทำให้การส่งผ่านความร้อนช้า จึงต้องใช้เวลากว่า ๑ ชม.
“ผลิตเข้าเครื่องฆ่าเชื้อได้รอบละ ๘๔ ชุด แต่ละรอบใช้เวลากว่า ๑ ชั่วโมง ทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควร
เมื่อคืน ก็ผลิตทั้งคืน ยังไม่ได้นอนเลย เพื่อจะได้นำไปช่วยผู้ประสบภัยได้เร็วที่สุด”


หลังผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว “ข้าวเหนียวหมูย่าง” จะไม่เน่าไม่เสีย เก็บนอกตู้เย็นได้ ๒ ปี
เหมาะสำหรับพื้นที่น้ำท่วมหนักที่ขนส่งอาหารสด อาหารแห้งอื่นๆ ไม่สะดวก สามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น
แต่ข้าวเหนียวอาจแข็งกว่าปกติ เพราะเป็นธรรมชาติของข้าวเหนียว
หากต้องการให้รสชาติอร่อยแบบดั้งเดิม นำไปต้ม ๓-๕ นาที หรืออุ่นไมโครเวฟ ๑-๒ นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง
เพราะถุงที่ใช้ ทนความร้อนได้ ๑๐๐-๑๒๐ องศาสเซลเซียส ด้านข้างถุงจะมีสติกเกอร์อธิบายไว้ชัดเจน
ทั้งหมดนี้ มีการทดลองเพื่อประมวลขั้นตอนและสูตรก่อนการผลิตจริง
โดย ดร.อัศวิน อธิบายว่า………
การจะผลิตข้าวสเตอร์ไรซ์แบบนี้ จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ส่วนตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปอาหาร ด้าน Thermal processing จึงมีความชำนาญในการทดลอง วิเคราะห์ และประเมินผล
การฆ่าเชื้อถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่ต้องทำให้ตรงตามหลักเกณฑ์กฎหมายกำหนด
โดยกล่องข้าวน้อยให้แม่นี้ ได้ทำครบถ้วน ตัวดร.อัศวินเอง ได้รับใบอนุญาต เป็นผู้สามารถควบคุมเครื่องมือฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้
ตั้งเป้าผลิต ๑๐,๐๐๐ ชุด แต่เนื่องจากขาดจิตอาสาช่วยแพ็กข้าวเหนียวและหมูย่างใส่ในบรรจุภัณฑ์
เบื้องต้น จึงเร่งผลิตให้ได้ ๒,๐๐๐ ชุด นำส่งผู้ประสบภัยในพื้นที่ก่อน
ส่วนเงินบริจาคที่เหลือจากซื้อวัตถุดิบต่างๆ จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติม นำไปบริจาคให้ผู้ประสบภัยที่อุบลฯภายในวันที่ ๑๕-๑๖ กันยา.
“ในอนาคต หากมีน้ำท่วมแล้วผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือ จะพัฒนาให้การผลิตมีประสิทธิภาคเพิ่มขึ้น
เบื้องต้น อาจแนะนำให้นักศึกษาที่คณะ นำไปเป็นโมเดลศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมกับอาหารประเภทอื่นด้วย”
นี่แหละ…….
เป็นเรื่องที่ผมปลื้มมาก ปลื้มในตัวอาจารย์อัศวิน ปลื้มในตัวนักศึกษามมส.และปลื้มในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เรียนอย่างนี้ สอนอย่างนี้ วิสัยทัศน์อย่างนี้ ทำให้มองเห็นอนาคตประเทศสดใส ผ่านครูบาอาจารย์และนักศึกษาแห่งนี้
เมื่อไทยพีบีเอสเผยแพร่ข่าว เข้าใจว่าคงฮือฮาสังคมทีเดียว เพราะวันรุ่งขึ้น (๑๕ กย.) ทีม มมส.โพสต์เฟซ ว่า
Foodtech MSU
เรียนชี้แจงสำหรับผู้ที่สงสัยว่า #saveubon
#กล่องข้าวน้อยให้แม่ ปลอดภัยจริงไหม เก็บได้ มากกว่า ๒ ปีนอกตู้เย็น?
จริงค่ะ
ภาพที่เห็นแรงงานจิตอาสา กำลังแพ็กของ คนเต็มไปหมดเลย จะสะอาดไหมหนอ?
ภาพคือ ขั้นตอนก่อนการฆ่าเชื้อค่ะ
#FTMSU
-น้องๆล้างมือ
-มีเน็ตคลุมผม
-โต๊ะเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
-มีอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์อยู่กับน้องนิสิตด้วย..
แต่สื่อจับภาพไม่ได้ ^^
-ผู้สัมผัสอาหารเป็นปี ๓ ขึ้นไป ผ่านรายวิชา food micro/ food processing แล้ว
– น้องๆ ปี ๑-๒ ความรู้ด้านวิทย์เบื้องต้น เป็นฝ่ายสวัสดิการดูแลน้ำท่า อำนวยความสะดวกให้พี่ๆ #FPDMSU
หลังการบรรจุ ปิดผนึกให้ปิดสนิท
มีการ QC รอยซีลโดยอาจารย์ทางด้าน food processing
สื่อจับภาพไม่ทันอีก^^
มีการทดลองมาก่อนที่จะลงแขกทำจริง
เมื่อเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ
retort หรือเรียกกันง่ายๆว่า หม้อรีทอร์ท จะถูกควบคุมโดย อ.ดร.อัศวิน อมรสิน ที่มีใบอนุญาตผ่านการอบรม เป็นผู้ควบคุมเครื่องมือฆ่าเชื้อ ด้วยความร้อนระดับอุตสาหกรรม #processauthority
มีพี่ๆ ปี ๔ #FTMSU คอยเฝ้าระวังอุณหภูมิอย่างใกล้ชิด
เราบรรจุในถุงทนความร้อนสูง ที่เรียกว่า #retortpouch หลังการฆ่าเชื้อ จะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่
หากถุงไม่รั่วซึม ก็ไม่เน่าเสีย
เราไม่คาดหวังให้ท่านเก็บรอ ๒ ปีเผื่อน้ำท่วมปีหน้าค่ะ
รับไปรีบทานค่ะ #น้ำท่วมอุบล
ปีหน้าเราจะพัฒนายิ่งกว่านี้
ขอบพระคุณทุกแรงใจที่ช่วยสนับสนุน #foodtechmsu
#fpdmsu
#ทีมมมส
//แอดมิน ผศ.ดร.มนัชญา ^^
อ่านแล้วก็ปลื้มซ้อนปลื้ม ต้องบอกว่า “กล่องข้าวน้อยให้แม่” ข้าวเหนียวหมูย่าง “สเตอริไลซ์” ของอาจารย์อัศวินและศิษย์นี้
เป็น “ต้นแบบ” ทางนวัตกรรม ตอบโจทย์ยังชีพมนุษย์ในทุกสภาวะได้ลงตัวที่สุด!
ยิ่งต่อจากนี้ โลกยากพ้นภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างน้ำท่วมเช่นตอนนี้ เรื่องอาหารยังชีพเป็นปัญหาใหญ่และยุ่งยาก
มี “กล่องข้าวน้อยให้แม่” จบเลย!
“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ น่าจะสนับสนุน ให้ผลิตกล่องข้าวน้อยให้แม่ เป็นเมนูต่างๆ ด้วย
รัฐบาลก็ให้งบมมส.ผลิตตุนไว้เลย เพราะเก็บได้ตั้ง ๒ ปี
เกิดอุบัติภัยที่ไหนปุ๊บ ……….
กล่องข้าวน้อยให้แม่ถึงที่นั่นปั๊บ เข้าท่ามากเลย!
เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนและน่าส่งเสริม Watchara Namkam โพสต์ fb เมื่อ ๑๔ กย.ดังนี้
รับบริจาคต่อ บัญชีนี้เท่านั้น
เลขที่บัญชี 011-340-841-3 ธนาคารกสิกร
อ.อัศวิน อมรสิน ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อ้างอิงจากอาจารย์อิศวิน 1,700,000 บาทโดยประมาณครับ
ยอดยังไม่นิ่งครับ
ในนามตัวแทนสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ขอเชิญร่วมบริจาคเงินสมทบทุนร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ สาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เพื่อเป็นทุนสำหรับผลิตอาหารสำเร็จรูปชนิดไม่เน่าเสียเก็บนอกตู้เย็นได้ 2 ปี (ข้าวเหนียวหมูทอด/ขนมจีนน้ำยา) บรรจุเพ้าซ์ เพื่อช่วยบรรเทาผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ห่างไกล จ.อุบลราชธานี
เพื่อนๆ ท่านใด ประสงค์ร่วมบุญบริจาค สามารถโอนช่วยได้ตามเลขบัญชีข้างล่างนี้ และแนบสลิปในคอมเม้นครับ ขอบพระคุณล่วงหน้า
—————————–
เมนูใหม่สำหรับ คนไทยทุกคน ‘คริสต์-พุทธ-มุสลิม’
ผลิตให้ในระดับอุตสาหกรรมและมีมาตรฐาน อย. (OEM)☆
ยังไม่ปิดรับบริจาคครับขออาสาเป็นสะพานบุญต่อไป.

Written By
More from plew
พิธา “ไข่ตายโคม” – เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ..? เปลว สีเงิน ๙ ปีที่แล้ว…….. ๒๒ พฤษภา.๕๗ “เผด็จการทหาร” โดยนายกฯ ประยุทธ์ เข้าคุมอำนาจการปกครองประเทศ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย...
Read More
0 replies on “นวัตกรรม “กล่องข้าวน้อยให้แม่””