แนวทางการสร้างเกษตรอินทรีย์ คือการหยุดทำลายพื้นที่ธรรมชาติสมบูรณ์เดิม

ในสัปดาห์ที่ผ่านม าผมได้มีโอกาสไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับเพื่อน ๆ นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายท่าน ที่ออกมาช่วยชาวบ้านร่วมกันต่อสู้กับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นกระแสต่อต้านว่าเป็นโครงการที่จะทำลายพื้นที่เกษตรและพื้นที่ต้นน้ำ เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด รวมถึงคุณลักษณะของน้ำบริเวณนี้ยังมีทั้งน้ำเค็มมาก เค็มปานกลาง และเค็มน้อย จึงสร้างความหลากหลายของระบบนิเวศน์และเกิดเป็นห่วงโซ่อาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดสูงถึง 50% เพื่อส่งเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ

หลายโครงการที่จะเกิดขึ้นและกำลังจะทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายแหล่งอาหารอินทรีย์ รวมถึงทำลายวิถีชีวิตในชุมชน ที่สำคัญเขาต้องการพื้นที่บริเวณนี้ก็เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่อย่างมากมาย เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ ระบบน้ำประปาที่ไม่มีคุณภาพ และอีกมากมาย

พื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ย่อมน่าจะเป็นแนวคิดที่ดี หากมองในมุมการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งในทุกนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจย่อมมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และผู้ที่เสียประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่ภาครัฐเสียไปจะได้ผลกลับคืนมาคุ้มค่าหรือไม่ และมีการวางแผนปิดจุดอ่อนอย่างรอบคอบมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เป็นประโยชน์กับท้องถิ่นและประเทศได้มากที่สุด หรือแค่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้คน แต่ใช้หุ่นยนต์แทน สร้างรายได้ เพิ่มจีดีพีของประเทศให้ดูดีขึ้นเท่านั้น อย่างเช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ฉะเชิงเทรา ที่ตั้งเป้าดึงนักลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ หุ่นยนต์แสนล้าน ซึ่งคาดว่าผังเมืองฉบับใหม่จะประกาศได้ในเดือนสิงหาคม และถ้าปรับเป็นผังสีม่วงแล้ว ก็จะเริ่มทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งก็คาดว่าจะเสร็จในเดือน กันยายน – ตุลาคม และหลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทันที

“ไม่แน่ใจว่าโรงงานไฮเทคเหล่านี้ จะนำแรงงานมาจากที่ไหน และจะใช้จำนวนคนปริมาณเท่าไร เมื่อเทียบกับเครื่องจักรกลหรือหุ่นยนต์ ซึ่งถ้ามีความเจริญเข้ามา แต่มิได้สร้างความสุขหรือการลืมตาอ้าปากให้แก่คนในพื้นที่ที่อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วคนได้ จะมีประโยชน์จริงหรือ”

ประเทศไทยเรามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เยอะแยะมากมาย เรามีแหล่งอาหารอินทรีย์ที่มีมูลค่าทางรายได้และจิตใจมหาศาล การที่รัฐบาลจะส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านี้ แต่ไม่ลงไปดูพื้นที่ที่เหมาะสมให้ลึกซึ้งชัดเจน ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การรณรงค์ส่งเสริมเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ของประเทศนั้นมิได้เกิดประโยชน์อะไร เพราะกว่าจะได้มาซึ่งเกษตรอินทรีย์นั้นต้องใช้ต้นทุนมหาศาล แต่เรากลับทำลายแหล่งเกษตรอินทรีย์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่กว้างไกลของรัฐบาล ความจริงการเขียนบทความเรื่องนี้มิได้เจตนาจะถ่วงความเจริญของประเทศ แต่รัฐบาลควรจะลงพื้นที่ไปดูให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งว่ายังมีพื้นที่อีกด้านหนึ่งซึ่งเหมาะสมกว่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางการสร้างเกษตรอินทรีย์และหยุดทำลายพื้นที่ธรรมชาติสมบูรณ์เดิม

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-2986-1680 – 2

 

นายมนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด

(ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ) 

Written By
More from pp
พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพ บิดาของ ส.ส.ยงยุทธ สุวรรณบุตร
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ศาลาการเปรียญวัดแพรกษา ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีสวดอภิธรรมศพนายสุรินทร์...
Read More
0 replies on “แนวทางการสร้างเกษตรอินทรีย์ คือการหยุดทำลายพื้นที่ธรรมชาติสมบูรณ์เดิม”