การประกาศ เก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา ในอัตรา 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดที่เข้าสู่สหรัฐ และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับอีกหลายประเทศ ซึ่งไทยเป็น 1 ในนั้น ถูกภาษีตอบโต้สูงถึง 37% เนื่องจากไทยส่งออกอยู่ที่ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มียอดเกินดุลการค้า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า 70% เป็นที่มาของการขึ้นภาษีตอบโต้ เพื่อให้ประเทศคู้ค้าส่งออกน้อยลง และรับสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น
ซึ่งไทยได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้ โดยรัฐบาลไทย ไม่ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกลับ แต่เลือกส่งทีมเจรจากับสหรัฐอเมริกาในฐานะคู่ค้าที่ดี ด้วยแนวคิดนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาทูน่า เนื้อวัว และเนื้อหมู เพื่อลดดุลการค้าระหว่างกัน
แต่แนวคิดนี้กลับไม่ถูกคิดอย่างรอบด้าน เพราะหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง จะส่งกระทบกับ อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยอย่างรุนแรง ตามที่ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรผู้เลี้ยง เห็นด้วยกับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ จากอเมริกาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ไทยขาดแคลน ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ และยังเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของธุรกิจปศุสัตว์ไทยอยู่แล้ว “แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” กับข้อเสนอในการนำเข้าเนื้อหมู ซึ่งเป็นการทำลายอุตสาหกรรมหมูของไทยให้ล่มสลายได้
เนื่องจากสหรัฐฯ มีต้นทุนผลิตหมูต่ำ เพราะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูไทยแข่งขันไม่ได้ เนื้อหมูนำเข้ามีราคาถูก กดราคาหมูในประเทศให้ตกต่ำ เหมือนกับที่มีขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกษตรกรแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว สุดท้ายก็จำต้องเลิกอาชีพในที่สุด หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าจากอเมริกา ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ของไทยก็หมดอาชีพ กลายเป็นความเสียหายที่ประเมินมูลค่าไม่ได้
ที่สำคัญ การนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ยังเป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของไทย เพราะเมื่อเกษตรกรเลิกเลี้ยงหมู ไทยก็ต้องพึ่งพาเนื้อหมูนำเข้าเพียงอย่างเดียว ดังเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เปิดตลาดปล่อยให้เนื้อหมูจากอเมริกาเข้ามาทำลายตลาด จนเกษตรกรในประเทศหมดแรงจูงใจและทยอยเลิกเลี้ยงจนเกิดปัญหาเนื้อหมูขาดแคลน จนต้องพึ่งพาเนื้อหมูนำเข้า แต่ราคาก็ไม่ได้ถูกลง ตรงกันข้าม ราคากลับปรับขึ้น 15-30% สร้างภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหากไทยยอมนำเข้าเนื้อหมู เพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็อาจมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน
นอกจากนั้น ไทยมีมาตรฐานการผลิตหมูสูงกว่าสหรัฐอเมริกา ยืนยันได้จากการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อสุกรแปรรูป ไปจำหน่ายในหลายประเทศ เพราะที่ผ่านมาไทยได้ยกระดับมาตรฐานและการป้องกันโรคในสุกรอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงอย่างเด็ดขาด ที่ทำมาหลายสิบปีแล้ว เพราะส่งผลต่อระบบหัวใจและประสาทของมนุษย์ หากได้รับในปริมาณไม่เหมาะสม
ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ตามกฎหมาย แม้ที่ผ่านมายังเป็นที่ถกเถียงในระดับสากลถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้บริโภค ผลกระทบต่อสัตว์ และความปลอดภัยระยะยาว แต่มีหลายประเทศที่ห้ามใช้หรือห้ามนำเข้า ดังนั้น ต้องคำนึงว่า คุ้มค่าหรือไม่ ที่จะนำความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย มาแลกกับการลดกำแพงภาษีจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ครั้งนี้ คณะเจรจาและรัฐบาลไทย ควรประเมินอย่างรอบด้าน เพราะการนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อหมู ไปแลกกับภาษีของสหรัฐอเมริกา นั้นได้ไม่คุ้มเสีย กับผลกระทบหลากหลายด้านที่จะเข้ามา ตรงกันข้าม ควรพิจารณาการนำเข้าสินค้าอื่นที่ไทยขาดแคลน และมีมูลค่าสูง ดังเช่น น้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯมากถึงปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ ที่ล่าสุด ได้ลงนามนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1 ล้านตันต่อปี รวมระยะเวลา 15 ปี รวมมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ การสนับสนุนเพิ่มการลงทุนไทยไปยังสหรัฐฯ โดยเอกชนไทยที่มีความพร้อมในธุรกิจพลังงาน ยังสนใจไปลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในสหรัฐฯ น่าจะช่วยลดดุลการค้าได้ดีกว่า และไม่มีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศอีกด้วย
บทความโดย : เนื่องนที ฤกษ์เจริญ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร