“วันพ่อ-วันชาติ-วันดินโลก” #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

รู้มั้ย…..
“๕ ธันวาคม” ของทุกปี เป็นวันอะไร?

ทุกคนรู้…..
“๕ ธันวาคม” วันคล้ายวัน “พระบรมราชสมภพ” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
พระผู้เป็นอันที่รักและเทิดทูนบูชายิ่งของปวงชนชาวไทย ในสถานะ “พ่อของชาติ”

“๕ ธันวาคม” พ่อบนฟ้าพระองค์นั้น คือสายใยแห่งรักหลอมแต่ละใจภักดิ์พันผูกรักสู่สามัคคี วันนี้จึงเป็น “วันชาติ”
“๕ ธันวาคม” ไม่เพียงเป็น “วันพ่อ” และ “วันชาติ” ของไทยเท่านั้น แต่ปี ๒๕๕๗ ยังเป็นวันของ “ชาวโลก” ด้วยอีกวัน

โดยมติที่ประชุมใหญ่ “สหประชาชาติ” รับรองให้ “วันที่ ๕ ธันวาคม” ของทุกปี
เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day)!

ดังนั้น ๕ ธันวาคม คือ “วันนี้” ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ๑๙๓ ประเทศ จัดงานเฉลิมฉลอง “วันดินโลก” ทั่วกันด้วย

ก็นำมาย้ำเพื่อจำบนความภาคภูมิใจ….
“๕ ธันวา” นอกจาก “วันพ่อ, วันชาติ” ของไทยเราแล้ว
๕ ธันวา.ยังเป็น “วันดินโลก” ของชาวโลกด้วย!

เพื่อเข้าถึงเนื้อหา “พระอัจฉริยภาพ” แห่งพระองค์ด้านดินเพื่อมวลมนุษยชาติ
ผมจะนำ “ลำดับเหตุการณ์” ที่ “กรมพัฒนาที่ดิน” ประมวลไว้ส่วนหนึ่งมาเผยแพร่ในวาระอันเป็นมงคลนี้ เพื่อซึมซับ-รับทราบโดยทั่วกัน
……………………………..

“ลำดับเหตุการณ์” ความเป็นมา “วันดินโลก”

⦁ การประชุม “สภาโลกแห่งปฐพีวิทยา” (World Congress of Soil Science)ที่กรุงเทพฯ 14-21 สิงหาคม ปี 2545
ในงานนี้ “กรมพัฒนาที่ดิน” จัดนิทรรศการ “เฉลิมพระเกียรติ” เรื่อง “His Magesty the King’s Vision, Leadership and Commitment on Sustainable Land Development Activities in Thailand”
เป็นที่ประทับใจนักปฐพีวิทยาที่มาร่วมประชุมมาก

สมาชิกสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science :IUSS) ทั่วโลก ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในการบริหาร “ทรัพยากรดิน” อย่างยั่งยืน

ทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นผู้นำ และปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดินด้วยพระองค์เอง
ที่ประชุมจึงเสนอให้ “วันที่ 5 ธันวาคม” ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็น “วันดินโลก”

⦁ วันที่ 9-15 กรกฎาคม 2549 ในการประชุมดินโลก (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 18 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

“นายประสาท เกศวพิทักษ์” นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย “นายสมพงษ์ ถีรวงศ์” ที่ปรึกษาสมาคมฯ  “ศาสตราจารย์ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมย์” อุปนายกฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ “ศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี สุทธิประการ” กรรมการสมาคมฯ เดินทางไปร่วมประชุมกรรมการ IUSS และติดตามเรื่องการกำหนดวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก

⦁ ปี พ.ศ. 2553 มีการประชุมดินโลก ครั้งที่ 19 ที่เครือรัฐออสเตรเลีย

ที่ประชุมกรรมการบริหารสมาพันธ์พิจารณาญัตติว่าด้วยการ “ถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 9 และมีมติ 3 ประการ

คือ เห็นสมควรขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล

“นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist) แด่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ทั้งกราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่ง “A Life membership”
และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็น “วันดินโลก”

⦁ ปี 2550-2554 “ดร.สันทัด โรจนสุนทร” ราชบัณฑิต ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย” ดำเนินการเรื่องถวายพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตามที่วงการ “ปฐพีวิทยานานาชาติ” ยกย่อง
และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็น “วันดินโลก”

โดยมอบหมายให้ “ศาสตราจารย์ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมณ์” ทำหน้าที่ประงานกับกรรมการบริหาร IUSS ดำเนินการตามมติทั้ง 3 ประการ

“ศาสตราจารย์ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมณ์” ได้ติดต่อประสานงานกับ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์” เพื่อดำเนินการต่อ
และเป็นผู้คิดชื่อรางวัลนี้ “Humanitarian Soil Scientist” แล้วนำเสนอให้ “ราชบัณฑิต” แปลเป็นภาษาไทย

⦁ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร” นำ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ดคลิฟฟ์” กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการ IUSS พร้อมคณะผู้บริหาร IUSS เข้าเฝ้า ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก

⦁ วันดินโลก (World Soil Day) เกิดขึ้นเนื่องจาก IUSS เห็นว่า การถ่ายทอดความรู้ทางด้านดิน และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อมนุษยชาติ และสภาพแวดล้อมให้แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอ
จึงควรมี “วันดินโลก” เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมรณรงค์ และเผยแพร่ความรู้เรื่องดินพร้อมกันทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะกรรมการ IUSS มีความเห็นพ้องกันว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ

ซึ่งรวมถึงทรัพยากรดิน และทรงประสบความสำเร็จในการปรับปรุงแก้ไข และการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน

จึงมีมติให้ “วันที่ 5 ธันวาคม” ซึ่งเป็นวัน “คล้ายวันพระราชสมภพ” เป็น “วันดินโลก”

ดังนั้น ในวันที่ 16 เมษายน 2555 หลังจากที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” แล้ว

ผู้บริหาร IUSS ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้ “วันที่ 5 ธันวาคม” ของทุกปี เป็น “วันดินโลก”

⦁ ธันวาคม 2555 ที่ประชุมสภามนตรี “องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ” (FAO)
ได้ประกาศให้มีการจัดตั้ง “วันดินโลก” ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ IUSS เสนอ
และ FAO ได้นำเรื่องวันดินโลก เสนอไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่ “องค์การสหประชาชาติ” เพื่อขอการรับรอง

⦁ วันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ได้มีมติรับรองให้ “วันดินโลก” (World Soil Day) ตรงกับ “วันที่ 5 ธันวาคม” ของทุกปี
และให้ปี 2558 เป็นปี “ดินสากล” (International Year of Soil in 2015) มีผลตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

วัน “ดินโลก” อยู่ในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ
ซึ่ง “ทุกวันที่ 5 ธันวาคม” ของทุกปี
ประเทศสมาชิก “องค์การสหประชาชาติ” 193 ประเทศ จะจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลกโดยทั่วกัน

พระราชกรณียกิจด้านดิน
ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน ที่เกิดจากสาเหตุธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็น ดินเปรี้ยวจัด ดินเค็ม
หรือบางแห่งไม่มีดินเลย ….
จึงทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า “ดินแร้นแค้น”

พระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ฟื้นฟู อนุรักษ์ดินของพระองค์นั้น มีลักษณะเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย ในทางปฏิบัติ เฉียบคมเหมาะเจาะ

และชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ ทรงเน้นการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการพึ่งตนเอง

ทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” คือทำให้ชุมชนเข้มแข็งก่อน จึงค่อยออกสู่สังคมภายนอก
มิใช่การนำความเจริญรุ่งเรืองจากภายนอกเข้าไปสู่ชุมชนที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งรับ

ขั้นตอนต่อไป คือ พัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพและสามารถ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด

ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ทรงจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแห่งแรก
ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างของความสำเร็จ” เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาตัวอย่างของจริงและนำกลับไปปฏิบัติได้เอง

จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้น ในทุกภูมิภาคของประเทศ 6 ศูนย์
เช่น “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดินเสื่อมโทรมและเป็นดินทราย

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ที่ประสบปัญหาดินเค็มและดินเสื่อมโทรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น
……………………………….

พ่อบนฟ้า ชาวประชาบนดิน
ต่างพื้น ต่างภพ บรรจบที่ใจ
๕ ธันวา.ฟ้าอยู่ใกล้ ใจลูกถึง
ดินโลก ดินไทย แต่ใครล่ะ…จะรักษา (แผ่น) ดิน?

เปลว สีเงิน
๕ ธันวาคม ๒๕๖๗

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from plew
คิดคับแคบของโคคับแค้น
อ้าว….ยังไงกันเนี่ย? “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษก ศบค.
Read More
0 replies on ““วันพ่อ-วันชาติ-วันดินโลก” #เปลวสีเงิน”