ท่องไว้…คุกรออยู่ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น

สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

วานนี้ (๒๑ มกราคม) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง

“กรณีทักษิณ ชินวัตร กับความอยู่รอดของรัฐบาล”

ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ มกราคม จากประชาชนที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ

รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑,๓๑๐ ตัวอย่าง

เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ ๙๗.๐

ถามถึงความอยู่รอดของรัฐบาล จากกรณีทักษิณ ชินวัตร ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ

พบว่าตัวอย่างร้อยละ ๓๙.๖๒ ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเลย

รองลงมาร้อยละ ๒๑.๙๘ ระบุว่าค่อนข้างส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล

ร้อยละ ๑๘.๗๐ ระบุว่าไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล

ร้อยละ ๑๕.๔๒ ระบุว่าส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมาก

และร้อยละ ๔.๒๘ ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าเรือนจำ จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส.ในอดีตหรือไม่

พบว่าตัวอย่างร้อยละ ๔๑.๖๐ ระบุว่าจะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน

รองลงมาร้อยละ ๔๑.๓๐ ระบุว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โตเหมือนในอดีต ร้อยละ ๑๑.๑๕ ระบุว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน

และร้อยละ ๕.๙๕ ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

พินิจพิจารณาดูตัวเลขจาก ๒ คำถามข้างต้น ดูย้อนแย้งกันเองประมาณหนึ่ง

ทั้งที่นำไปสู่ผลที่เหมือนกัน คือรัฐบาลพัง!

ประเด็นความอยู่รอดของรัฐบาลคำตอบต่างกันค่อนข้างชัด

แต่การนำไปสู่วิกฤตหรือไม่วิกฤตกลับเท่ากัน ทั้งๆ ที่ ๒ คำตอบจาก ๒ คำถาม ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ผลสำรวจของนิด้าโพลจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนทางความคิดของกลุ่มตัวอย่างมากโขทีเดียว

ที่จริงผลสำรวจออกมาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะหากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ๒ พรรคหลักในรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย กับภูมิใจไทย มีที่นั่ง สส.กว่า ๒๑๐ เสียงเข้าไปแล้ว

ฉะนั้นคำตอบจากกลุ่มนี้คืออยากให้รัฐบาลอยู่ต่อ กรณีทักษิณไม่กระทบกับรัฐบาล

แต่กรณีการมีม็อบจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองหรือไม่ ทำไมคำตอบถึงสูสีกัน

และหาก นำร้อยละ ๑๑.๑๕ ระบุว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน ไปรวมกับ ร้อยละ ๔๑.๓๐ ที่ระบุว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โตเหมือนในอดีต

จะกลายเป็นร้อยละ ๕๒.๔๕ ในทันที

ความย้อนแย้งนี้อาจเกิดจากความไม่แน่ใจของประชาชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล เพราะในอดีตการชุมนุมทางการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง

แม้ม็อบไม่อาจล้มรัฐบาลได้โดยตรง แต่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่นการรัฐประหาร

ผลสำรวจของนิด้าโพล แม้จะมองได้ว่า กรณีนักโทษเทวดา ไม่ส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาล แต่ก็มีความหวาดหวั่นว่าอาจมีวิกฤตทางการเมืองอยู่ข้างหน้า

รัฐบาลอาจไปได้ไม่ไกล!

นั่นคือความเชื่อทางการเมืองของประชาชนที่สะท้อนเป็นผลโพล

แต่ที่จริงแล้วความอยู่รอดของรัฐบาลไม่ได้ขึ้นกับเสียงเชียร์ของประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเป็นหลัก

การกระทำของรัฐบาลต่างหากจะเป็นตัวตัดสิน

โดยเฉพาะรัฐบาลที่ทำผิดกฎหมาย มักจะนำไปสู่จุดจบ

นโยบาย เติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มต้นก็ต้องฝ่ากฎหมายหลายฉบับ

หากสามารถแจกได้จริง จะมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางตามมา

ประเด็นนี้มีเสียงเตือนจาก ป.ป.ช.ค่อนข้างชัดเจน แต่รัฐบาลมีความยโส มองคำเตือนของ ป.ป.ช.เป็นเรื่องไร้สาระ โดยเฉพาะตัว นายกฯ เศรษฐา การันตีว่าไม่มีโกง อย่าพูดลอยๆ!

เอาสิครับ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็คล้ายๆ กันนี่แหละครับ มีการเตือนให้ระวังจะเกิดการคอร์รัปชันกันอย่างมโหฬาร

คนที่เตือนไม่ใช่ใคร แต่เป็น ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร ผู้ล่วงลับ ขณะนั้นเป็น ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

…นี่คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเอง ที่ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง…

เสียงเตือนนี้ดังไปถึง “ยิ่งลักษณ์”

แต่หูทวนลม

ส่วนลิ่วล้อสวนกันยับ

สุดท้ายก็เป็นอย่างที่ ดร.โกร่งเตือน

มาคราวนี้เสียงเตือนจาก ป.ป.ช. ดูจะเข้มข้นขึ้นทุกวัน

“รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์” ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นและเตือนเรื่องโกงมาตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าว

“….พอรัฐบาลจะทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว แต่ระหว่างการรอการโอนเข้าบัญชีประชาชน อาจมีบางคนที่มีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์ แต่เขาอยากได้เงินไปใช้ก่อน ก็อาจมีพวกกลุ่มคนที่เป็นพวกนายหน้า คอยไปติดต่อคนที่อยากได้เงินไปใช้ก่อนที่รัฐบาลจะโอน โดยมีการเจรจากันเช่น หนึ่งหมื่นบาท

คนไปติดต่อบอกว่า จะให้เงินไปก่อนเจ็ดพันบาท แล้วพอได้เงินมา ก็นำเงินทั้งหมดหนึ่งหมื่นบาทมาใช้คืน ตรงนี้ก็มีความเสี่ยงเยอะ

ก็เหมือนกับสมัยโครงการรับจำนำข้าว ที่เคยเป็นอนุกรรมการไต่สวนรับจำนำข้าวของ ป.ป.ช.มาก่อน ก็เจอประเภทโกงด้วยวิธีการเวียนเทียนข้าวกันเพื่อจำนำซ้ำ

ดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีความเสี่ยงในหลายด้านในการบริหารจัดการ ที่วิธีการบางอย่าง คนที่สุจริตจะนึกไม่ออก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะเห็น…”

เตือนกันแล้วนะครับ ถึงเวลามีโกง นายกฯ จะบอกไม่รู้ไม่เห็นเป็นเรื่องของระดับปฏิบัติไม่ได้

ตอนนี้ตี๊ต่างว่า นายกฯ คือคนที่สุจริต นึกไม่ออกว่าเขาโกงกันอย่างไร หากไม่อยากโดนฟ้อง ม.๑๕๗ ก็หาวิธีป้องกันการโกงเสียแต่เนิ่นๆ

ไม่ใช่เอาแต่สวนกลับว่าพูดลอยๆ

เพราะคนโกงจ้องตาเป็นมันแล้ว

นี่ยังไม่นับประชาชนที่ปฏิเสธจะรับเงิน ๑ หมื่นบาทของรัฐบาล ๑ หมื่นคนก็ ๑๐๐ ล้านบาทแล้ว

ส่วนนี้จะจัดการอย่างไร จะมีเจ้าหน้าที่รัฐสวมรอยหรือไม่

หากนายกฯ ไม่สนใจเสียงเตือน ก็ท่องไว้

คุกๆๆ

Written By
More from pp
ประชาธิปไตยอิหยัง(วะ)? – สันต์ สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน “เห็นความเดือดร้อนประชาชนเป็นสำคัญ” แรกๆได้ยินก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะรู้นิสัย-สันดานของคนเป็นสส.-นักการเมือง แต่เมื่อได้ยินประโยคนี้บ่อยครั้งจากปากคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
Read More
0 replies on “ท่องไว้…คุกรออยู่ – ผักกาดหอม”