8 มีนาคม 2566 แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวนโยบายเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ภายใต้ธีม “DigitALL: Innovation and technology for gender equality” นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ” โดยผู้เข้าร่วมมีการสวมเสื้อ “embrace equity โอบกอดความเสมอภาค” เพื่อแสดงจุดยืนความเสมอภาคทางเพศของพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ และจะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีนโยบายที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างทั่วถึง 2 นโยบาย ดังนี้
1. ‘การยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ดัวยเทคโนโลยี’ ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทักษะ
‘กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี’ คือหนึ่งในความสำเร็จของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีกรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การพัฒนาทักษะอาชีพ, และการดูแล ปกป้องสิทธิสตรี, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อดูแลประชากรหญิงครอบคลุมทุกมิติ
ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการหญิงยังเป็นปัญหา จากข้อมูลธนาคารโลกระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนเพียง 30 % และมีถึง 70% ที่ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคค้าปลีกซึ่งเติบโตน้อย กำไรน้อย และยังขาดเทคโนโลยี
พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายต่อยอดความสำเร็จของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพกองทุน ฯ โดยเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการสร้างคน สร้างเครือข่าย เชื่อมตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงนวัตกรรม และเพิ่มการปกป้องสิทธิ์ต่างๆ เพื่อผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างภาคภูมิ
2. ‘การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน’
เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 1 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากกามดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ให้แก่ผู้หญิงทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น เราเคยมีนายกรัฐมนตรีหญิง มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และมีสัดส่วนนักการเมืองผู้หญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทยมีสัดส่วน ผู้สมัครหญิง 20% มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน 5 % โดยไม่ได้มีการจำกัดเพศในการคัดเลือกผู้สมัครแต่มาจากความเหมาะสมเป็นหลัก