ม.อ. ผนึกกำลังคณะแพทย์ 4 สถาบัน มุ่งยกระดับ ‘ธนาคารชีวภาพ’ ก้าวสู่ศูนย์กลางการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะแพทยศาสตร์ เดินหน้าขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์คณะแพทย์ 4 สถาบันชั้นนำของประเทศไทย มุ่งยกระดับธนาคารชีวภาพ สู่ศูนย์กลางวิจัยและการทดสอบที่เป็นเลิศในด้านการรักษาโรค ชูเป็นแหล่งเชื่อมโยงงานวิจัยบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คลินิกและชีวสารสนเทศทางการแพทย์ สู่การใช้งานจริงอย่างครบวงจร เพื่อร่วมผลักดันธนาคารชีวภาพและเครือข่ายทั่วประเทศก้าวสู่เป็นศูนย์กลางการทดสอบมาตรฐานสากลในระดับประเทศและนานาชาติ

รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า คณะแพทย์ 4 สถาบัน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วางวิสัยทัศน์ของธนาคารชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพจากผู้ป่วยสู่การเป็นแหล่งชีวทรัพยากรที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยเชิงลึก รวมทั้งเป็นคลังข้อมูลความรู้ทางชีวภาพที่สร้างความเข้าใจต่อโรคต่างๆ ตลอดจนนำไปสู่การศึกษาเชิงลึกถึงกลไกของโรค และต่อยอดถึงการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และการรักษาผู้ป่วยแบบแม่นยำ (precision medicine)

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เดินหน้าขับเคลื่อนธนาคารชีวภาพซึ่งเป็นคลังสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ จัดตั้งขึ้นในปี 2559 ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์วิจัยการแพทย์ปริวรรต กลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ ชั้น 4 อาคารวิจัยรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร สู่การยกระดับจัดเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดเพื่องานวิจัยอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางอณูชีววิทยา โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์แพทย์ทางคลินิกและนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงงานวิจัยบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สุขภาพ คลินิก และชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ทางการแพทย์สู่การใช้งานจริงอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายผลักดันยกระดับธนาคารชีวภาพ สู่ความเป็นศูนย์กลางการทดสอบที่เป็นเลิศในด้านการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหายาก (Rare disease) และโรคทางพันธุกรรม (Genetic disorders) เป็นต้น ปัจจุบันมีการจัดเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งหลากหลายชนิดในธนาคารชีวภาพมากกว่า 7,000 ตัวอย่าง ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งรังไข่ เป็นต้น โดยมีทีมอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 ราย และมีการนำตัวอย่างไปใช้เพื่อการวิจัยทางด้านการแพทย์แล้วหลากหลายโครงการ

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารชีวภาพสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพจากผู้ป่วย จัดตั้งขึ้นภายใต้สถาบันที่เป็นโรงเรียนแพทย์หลากหลายสถาบันในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น

โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือธนาคารชีวภาพในประเทศไทยระหว่าง 4 สถาบันเป็นพันธกิจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านธนาคารชีวภาพ ยกระดับมาตรฐานธนาคารชีวภาพในประเทศไทย ผลักดันให้ธนาคารชีวภาพในเครือข่ายได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 20387:2018 Biotechnology-Biobanking-General requirements for biobanking เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากลในระดับประเทศและนานาชาติ

Written By
More from pp
DGA เดินหน้าต่อเนื่อง เปิดประสบการณ์บริการดิจิทัลภาครัฐ ด้วยแนวคิด เข้าใจ เข้าถึงง่าย ลดภาระให้ประชาชนชาวอุทัยธานี
นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดโครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน” และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ณ. อบต.บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 
Read More
0 replies on “ม.อ. ผนึกกำลังคณะแพทย์ 4 สถาบัน มุ่งยกระดับ ‘ธนาคารชีวภาพ’ ก้าวสู่ศูนย์กลางการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล”