โดยปกติการรักษามะเร็งด้วยการให้ยา จำเป็นต้องรอดูการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยมะเร็งสักระยะหนึ่ง หากผลการรักษาไม่เป็นไปตามคาดอาจต้องเปลี่ยนชนิดยา
แต่ปัจจุบันมีกระบวนการรักษาที่เรียกว่า Cancer Avatar เพื่อการให้ยาที่ตรงจุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุดตั้งแต่ครั้งแรก
นายแพทย์วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งตามแนวทาง Precision Cancer Medicine หรือ การรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล จะมีกระบวนการตรวจยีนเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดขึ้นในเซลล์มะเร็ง เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกกลุ่มยาในการรักษาตามสิ่งที่ตรวจพบ
ซึ่งแม้จะเป็นการรักษาแบบจำเพาะ แต่หลังจากให้ยาไปแล้ว ยังคงต้องติดตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยระยะหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูเซลล์มะเร็งในร่างกาย หากผลการตอบสนองไม่ดีหรือไม่ตรงตามที่หวังผล อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนชนิดยาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
แต่ในปัจจุบันมีการกระบวนการทดสอบการตอบสนองต่อยาก่อนที่จะใช้ในผู้ป่วยจริง เรียกว่า Cancer Avatar เป็นการตัดชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย
ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเซลล์มะเร็งนั้นเป็นตัวแทนมะเร็งของผู้ป่วยจริง ๆ จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับยารักษาแต่ละสูตรเพื่อดูการตอบสนองของเซลล์มะเร็ง ก่อนเริ่มใช้ยากับผู้ป่วย
การใช้ประโยชน์จาก Cancer Avatar เน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ที่การรักษาแบบมาตรฐาน เช่น การผ่าตัด การฉายแสดง หรือการให้ยาต้านมะเร็งสูตรทั่วไปไม่ได้ผล และอาจจำเป็นต้องใช้ยาสูตรใหม่ หรือนวัตกรรมการรักษาใหม่ที่ยังไม่ใช่วิธีมาตรฐาน
ซึ่ง Cancer Avatar จะสามารถทดสอบสิ่งเหล่านั้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจและความแม่นยำในแนวทางการรักษาขั้นต่อไปได้ เช่น หากมียาเคมีบำบัดทางเลือก 10 สูตรที่สามารถเข้ากับพยาธิกำเนิดของโรคมะเร็งของผู้ป่วย
แพทย์จะทดสอบประสิทธิภาพและการตอบสนองต่อยากับ Cancer Avatar จนสามารถคัดเลือกสูตรที่เหมาะสมกับรอยโรคของผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการทดลองสูตรยาทั้ง 10 สูตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการทดสอบกับ Cancer Avatar ออกว่ามีการตอบสนองดี ก็จะตอบสนองในผู้ป่วยได้ตรงตามการทดสอบประมาณ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์
“สาเหตุที่ไม่สามารถตอบสนองตรงตามการทดสอบได้100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการการตอบสนองต่อยาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในร่างกาย เช่น ยาบางตัว เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ผ่านกระแสเลือด ผ่านกลไกอื่น ๆ ก็อาจไม่ได้ตรงตามการทดสอบทั้งหมด” นายแพทย์วิกรมกล่าว