เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย หารือต่อที่ประชุมว่า จากปัญหาอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการ ฉก ชิง วิ่งราว หรือแม้กระทั่งการปล้นที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน และมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในการปล้นร้านทองที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งถือเป็นคดีสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ซึ่งตนต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเราสามารถที่จะดำเนินการในลักษณะระวัง ป้องกัน และติดตามจับกุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ 4G และ 5G มาบูรณาการ เพื่อพัฒนาออกมาเป็นนโยบายในลักษณะสร้างเป็น Big data ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากกล้อง CCTV ทั้งของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร้านค้า ประชาชน รวมถึงกล้องหน้ารถยนต์ ให้นำเข้ามารวมไว้ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อช่วยในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ซึ่งสามารถทำได้ทันที
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า มีตัวอย่างในต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Public and private video surveillance มีลักษณะการทำงานคือจะมีแพลตฟอร์มกลาง โดยกล้องทุกตัวที่อยู่ในเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนจะส่งข้อมูลเข้ามายังแพลตฟอร์มนั้น แล้วนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาวิเคราะห์ ตรวจหาความเสี่ยงก่อนที่จะมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือหากเกิดเหตุแล้ว ก็สามารถนำข้อมูลจากกล้องที่ครอบคลุมในจุดต่างๆ เข้ามาช่วยในการติดตามแกะรอยคนร้ายได้
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย แน่นอนว่าเราต้องการให้มีการพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมาให้ใช้งานได้จริง โดยมีความเป็นไปได้อย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไปบ้างแล้ว เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองเป็น Smart city ซึ่งสามารถนำทรัพยากรดังกล่าวมาปรับใช้กับ VDO surveillance ได้ ที่สำคัญรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน คนทั่วไป ให้นำกล้อง CCTV ของตนเองเข้ามาร่วมโครงการในการดำเนินนโยบายนี้ เช่น รัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษในการลดภาษี หรือคนที่นำกล้องหน้ารถยนต์เข้ารวมโครงการ ก็จะได้ลดค่าการต่อภาษีรถยนต์
“ตรงนี้เป็นการทำ Big data ที่รวบรวมข้อมูลวิดีโอจากกล้องต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามารวมกันในแพลตฟอร์มเดียวกัน เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่โดยใช้ระบบ AI เข้ามาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าความเสี่ยงเกิดเหตุร้ายมากน้อยแค่ไหน จะต้องเตรียมการป้องกันอย่างไร หรือใช้ในการติดตามคนร้ายได้ง่ายขึ้น ผมจึงอยากฝากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ หรือพัฒนาขึ้นมาเป็นนโยบาย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในระยะยาวสำหรับการป้องปรามอาชญากรรม” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว