จบ “เอเปก” แล้วไงต่อ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ผ่านไปด้วยดี

เอเปก ๒๐๒๒ ปิดฉากไปอย่างชื่นมื่น

ผู้นำเอเปกจากทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมรับรอง ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ค.ศ.๒๐๒๒ รวมทั้งได้ร่วมรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ “Bangkok goals on BCG Economy”

ใช่ครับ…เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ได้รับการตอบรับจากประเทศสมาชิกในระดับที่ดีทีเดียว

คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บอกว่าประเด็นเศรษฐกิจ BCG ของไทย สอดคล้องกับประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ

ในการสนทนาระหว่างประธานาธิบดี สีจิ้นผิง กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บรรลุฉันทามติว่าด้วยการสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกัน

นำไปสู่การออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่ประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญยิ่งยวดกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) เพื่อเร่งแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ๒๐๓๐

จีนยกย่องชมเชยเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG ที่ไทยนำเสนอ และพร้อมแสวงหาการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ร่วมกับไทยโดยอ้างอิงปรัชญาการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ให้ความสนใจ เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นพิเศษ

รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบรถไฟ ที่ “สีจิ้นผิง” พูดถึงการเชื่อมโยง EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน

มองภาพอนาคต หากโครงการเหล่านี้เสร็จสิ้นเชื่อมโยมกัน โอกาสทางเศรษฐกิจจะเปิดประตูกว้างขึ้นอีก

จากการหารือเต็มคณะ ไทยกับจีน ได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน ๕ ฉบับ ได้แก่

๑.แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๙)

๒.แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑

๓.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

๔.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

และ๕.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ก็พอมองเห็นทิศทางหลังจากนี้ หากรัฐบาลถัดๆไปให้ความสนใจสานต่อ

อีกไฮไลท์ของการประชุมเอเปกครั้งนี้ คือเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP)

FTAAP ต่างไปจาก อาร์เซ็ป ( CPTPP )

FTAAP ไม่ใช่ความตกลงการค้า ไม่ต้องเปิดการเจรจาและลงนามเหมือน CPTPP

แต่จะเป็นลักษณะการทยอยเปิดการค้าเสรี ที่จะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละเขตเศรษฐกิจในสมาชิกเอเปก

คร่าวๆเป้าหมายของ FTAAP คือ การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น

การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปก

และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

อย่างที่ทราบกันครับ เอเปก เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง ๒,๙๐๐ ล้านคน คิดเป็น ๓๘% ของประชากรโลก

มี GDP รวมกัน มูลค่า ๕๒ ล้านล้านดอลลาร์

คิดเป็น ๒ ใน ๓ ของ GDP โลก

หากอนาคตข้างหน้า การขับเคลื่อน FTAAP ประสบความสำเร็จ GDP ไทยจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เพราะปัจจุบัน ไทยยังไม่ได้ทำ FTA กับ สหรัฐ แคนาดา รัสเซียและเม็กซิโก ซึ่งเป็นสมาชิกเอเปก

เอเปกจบหมาดๆ นักวิชาการนักเศรษฐศาสตร์เริ่มคึก แนะนำว่าเศรษฐกิจ BCG ไม่ควรหยุดอยู่แค่เวทีเอเปก

ต้องหยิบยกไปนำเสนอเวทีระดับโลกอื่นๆ ด้วย อาทิ

องค์การการค้าโลก

องค์การสหประชาชาติ

เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม

ไทยสามารถขยับไปอยู่ในสถานะของผู้กำหนดทิศทางและกฎการค้าและการลงทุนของภูมิภาคและของโลกได้ เพราะได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

แต่เรายังต้องปรับในอีกหลายส่วน

อาทิ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม

เตรียมความพร้อมทางด้านคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง

อาศัยบรรษัทข้ามชาติ ข้ามาจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับโลกในไทย มีข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี

เพื่อเราสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

ก็ฝากไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังหาเสียงกันสุดเหวี่ยง

หากพรรคไหนได้เป็นรัฐบาลอย่าลืม ผลจากการประชุมเอเปกครั้งนี้ อย่าให้สิ้นสุดลงเพราะความเห็นทางการเมืองไม่เหมือนกัน

อย่าคิดว่าเป็นผลงานของรัฐบาลนี้ ก็กองไว้ตรงนั้น

อย่าใช้ข้ออ้างรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุม ฉะนั้นไม่ต้องรับมรดกจากรัฐบาลนี้ เพราะเอาเข้าจริง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน

รัฐบาลเพื่อไทย

รัฐบาลก้าวไกล

หากมีการชุมนุมที่ดูแล้วเสี่ยงต่อการทำลายการประชุมเอเปก ทุกรัฐบาลต้องสั่งสลายการชุมนุมนั้นเหมือนกันหมด

เป็นทั่วโลก ปีหน้าที่อเมริกาคงได้เห็น ม็อบโดนทุบเลือดสาด แน่นอน

เพียงแต่เรามีนักการเมืองที่เก่งกาจตอนเป็นฝ่ายค้าน รู้หมดทุกอย่าง แต่เป็นรัฐบาลเมื่อไหร่มักจะไบ้กินเยอะไปหน่อย

จะเจริญหรือฉิบหายอยู่ที่นักการเมือง

0 replies on “จบ “เอเปก” แล้วไงต่อ – ผักกาดหอม”