ปัจจุบันโรคมะเร็งปอดยังคงเป็นสาเหตุหลัก ของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย โดยสาเหตุที่เกิดนั้นมักมาจากเราพบตัวมะเร็งชนิดนี้ค่อนข้างช้าเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเมื่อตรวจพบเจอก็มักจะเป็นในระยะท้าย ๆ ของโรค
ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล กล่าวว่า อวัยวะปอดของคนเหล่านั้นประกอบด้วยถุงลมขนาดเล็ก (Alveoli) จำนวนมากมายที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน
เมื่อใดก็ตามที่มีตัวมะเร็งก่อกำเนิดขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ ปอดของเราก็ยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติโดยที่ยังไม่มีการแสดงอาการ
อีกทั้งในคนปกติถึงแม้เราจะสูญเสียพื้นที่ปอดไป 50 เปอร์เซ็นต์ ร่างกายของเราก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ดังนั้นกว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีอาการหรือรู้สึกตัว มักจะมาด้วยอาการน้ำท่วมปอดหรือมีก้อนกระจายไปในหลายตำแหน่ง จนทำให้มีอาการเกิดขึ้น โดยอาการของมะเร็งปอด อาจเกิดมีได้ตั้งแต่ไอ เจ็บหรือแน่นหน้าอก เหนื่อยหรือไอเป็นเลือดได้
จากข้อมูลมะเร็งปอดในปัจจุบันนั้น มีหลากหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด เช่น ได้มีการสูดดมควันพิษ PM 2.5 หรือสารเคมีหนัก แต่สาเหตุที่สำคัญยังคงเป็นการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่ไม่สูบบุหรี่โดยเฉพาะชาวเอเชียนั้น ก็ยังคงมีภาวะเสี่ยง สามารถเป็นโรคมะเร็งปอดได้เนื่องจากการมีพันธุกรรมที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะบุคคลที่มีประวัติญาติสายตรงที่เป็นมะเร็งปอด
ฉะนั้นคนไหนที่มีญาติที่มีประวัติโรคมะเร็งปอดหรือมีประวัติการสูบบุหรี่ แนะนำให้เข้าทำการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
การรักษาโรคมะเร็งปอดในประเทศไทยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมาก โดยระยะเริ่มต้นเราสามารถรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเน้นด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ส่วนระยะที่ 3 หรือ 4 หรืออาจรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด
โดยวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2565 นี้ทางโรงพยาบาลวชิรพยาบาลได้ทำการจัดงานประชุมเสวนาความรู้สู่ประชาชน เพื่อให้ “ความรู้มะเร็งปอดสำหรับประชาชน” ณ ตึกทีปังกรชั้น 6 เวลา 08.00-12.30 น.
โดยประชาชนและผู้สนใจทั่วไป ที่ต้องการเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนได้ผ่านทางเพจผ่าตัดปอดโดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย หรือ lineofficial;@lungsurgeryth