สันต์ สะตอแมน
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี..
นี่.. “ครูยุ่น” หรือคุณมนตรี สินทวิชัย เลขาฯ มูลนิธิคุ้มครองเด็ก คงจะยึดสุภาษิตนี้อยู่อย่างหนักแน่น จึงได้ลงโทษด้วยการตีเด็กหรือลูกๆ ที่อยู่ในความปกครอง-ดูแล..
จนนำไปสู่การสั่งปิดมูลนิธิฯ พร้อมตัวท่านเองก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายเด็ก และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงไปตามมุมมองของแต่ละคน
ในซีก..คนหัวเก่า-โบราณ ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พ่อ-แม่จะเลือกวิธีการสั่งสอนลูกด้วยการตี ส่วนคนหัวสมัยใหม่ ก็เห็นว่า “ไม้เรียว” ไม่ได้สร้างคนให้เป็นคนดีได้จริง!
ซึ่งจะถูก-ผิด จะสามารถสร้างลูกให้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีของสังคมได้จริงไหมก็ไม่มีใครที่จะยืนยันได้ เห็นทีแต่ละครอบครัวนั่นแหละต้องเลือกเอา..
เลี้ยงลูกแบบ..รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี หรือ รักวัวให้ผูก รักลูกให้โอ๋!
ส่วนท่านนี้..คุณมานพ อุดมเดช ผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล ที่ปัจจุบัน “มือว่างงาน” ก็ได้ส่งข้อความทางไลน์ไปถึงผม..
“เรื่องครูยุ่นเนี่ย เป็นคนที่ทำให้ผมช็อกนะ ไม่อยากเชื่อ ยุ่นกับหยุยทั้งสองคน รู้จักกันตั้งแต่ผมยังทำงานเอ็นจีโอ. โน่นเลยนะ
ยุ่นเนี่ยรู้จักตอนผมไปอยู่ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กอยู่ที่นั่นร่วมปีเลย รู้จักครูยุ่นและครูเว้ว (ตอนนั้นทั้งคู่เป็นแฟนกัน ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ายังอยู่ด้วยกันมั้ย) เขาไม่มีแววอะไรอย่างที่เป็นข่าวนะ
ยุ่นเคยเป็นส.ว. ด้วย โรงเรียนหมู่บ้านเด็กก็อยู่ในมูลนิธิเด็ก สมัยนั้น หมอเสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานมูลนิธิฯ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด และก็หมอประเวศ วะสี ก็เป็นกรรมการมูลนิธิด้วย.
มีพ่อเปี๊ยก (อาจารย์พิภพ ธงไชย) เป็นผู้บริหารโรงเรียน จริงๆ คือคนก่อตั้ง มีแม่แอ๊ว (อาจารย์รัชนี ธงไชย) เป็นครูใหญ่ ครูยุ่นเนี่ยเป็นครูอาสาสมัครในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก
อาจเป็นไปได้ว่า เด็กกลุ่มนั้นไม่ธรรมดา เพราะฟังจาก อ.แก้วสรร ที่เป็นประธานมูลนิธิฯ พูดก็น่าจะจริง…ผมยังไม่เชื่อว่ายุ่นจะเป็นคนไม่ดีอย่างที่ฝ่ายกล่าวหาพูดฟ้องสื่อ
แต่ผมก็นึกวิจารณ์ในใจว่า ยุ่น ในฐานะที่เขาเคยเป็นบุคคลากรโรงเรียนหมู่บ้านเด็กมานานหลายปี น่าจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง ในเรื่องการไม่ลงโทษด้วยการตี
ไม่ยกเว้นหรือหยวนๆ กับการตีเลยไม่ว่ากรณีใดๆ (ตีหนักตีเบาก็ไม่ได้) ยุ่นน่าจะใช้วิธีคืนเด็กกลับไปให้ครอบครัวของพวกเขา การใช้ถ้อยคำมึงกู หรือ คำหยาบคาย ก็ไม่ได้ …
ยุ่นอาจจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็กมาตั้งแต่ตอนยังเป็นอาสาสมัครก็ได้นะ… ดังจะเห็นว่า มีอาสาสมัครหลายคนในสมัยนั้น ซึ่งที่สุด เมื่อไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของโรงเรียน
อาจารย์พิภพ ธงไชย ก็ได้ขอบใจพวกเขาแล้วให้พ้นจากการเป็นอาสาสมัคร แกไม่ยอมให้อยู่ในโรงเรียน อีกต่อไป
พวกอาสาที่ถูกให้ออกไป ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการให้เสรีภาพมากเกินไป (พวกเขายังสลัดความคุ้นชินในสังคมข้างนอกโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ไม่หมด จึงยังไม่เข้าใจเสรีภาพ ว่าแท้จริงมันยังไง)
ผมได้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก: ฟ้าให้เกิดมีเสรี ผมเขียนจบตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงเรียน หมู่บ้านเด็ก แต่ไม่ได้มีโอกาสสร้าง เพราะคุณกมล กุลตังวัฒนา หาเงินมาทำไม่ได้
แม้ต่อมาแกจะมีเงินจากกิจการร้านอาหารแล้ว แต่แนวทางที่แกเคยมุ่งมั่นกับผมก็เปลี่ยนไป จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังเก็บไว้ ยังหวังว่า สักวันจะได้สร้าง
ถ้าหนังเรื่องนี้ได้สร้างและออกฉาย ผมมั่นใจจะมีคนจำนวนไม่น้อยจะได้ฉุกคิด.. “เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ” อย่างที่คิด!
สันต์หาเศรษฐีมาลงทุนให้หน่อย ผมเขียนบทเสร็จมาตั้งปี 39 โน่นแล้ว”
เฮ้อ..เศรษฐีไม่สนลงทุนทำหนัง เขาจ้องแต่จะฟันดาราอย่างเดียวครับ!