ย้อนอดีตคอกส.ส.-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

การเมืองก็เหมือนคลื่น

อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว มันก็จะเกิดซ้ำอีก ไม่มีวันจบ

“ทักษิณ” ปล่อยข่าวว่า ขณะนี้บางพรรคจะซื้อ ส.ส.ให้เข้าร่วมพรรค หัวละ ๘๐ ล้านบาท

แถมยังแสดงความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่า

“…ส่วนตัวมองว่า เหมาะมากสำหรับผู้ที่กำลังจะรีไทร์การเมือง แต่ซื้อไปก็เจ๊ง แพ้

ดังนั้น เลือกตั้งครั้งต่อไป สนุก เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนจะกำหนดโชคชะตาของตัวเอง แม้สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จะหันมาร่วมมือกับ พล.อ.ประวิตร แต่จะเป็นการจับมือข้างหนึ่ง แล้วถือมีดข้างหนึ่งอยู่ดี

ในฐานะคนที่ผ่านการเมืองมาเยอะ วิเคราะห์ตามกติกาที่ระบุว่า ถ้าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ได้ ๒๕ เสียง ชื่อนั้นตกกระป๋อง ไม่มีความหมาย

ผมดูแล้ว พรรคที่จะได้ ๒๕ เสียงขึ้นไปนั้น มีอยู่ ๕ พรรค ไม่มากกว่านั้น

ดังนั้น ถ้าผมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ มี ๒ ทางเลือก คือ จะเอาเท่ หรือไม่เท่ ซึ่งถ้าเอาเท่ คือ อยู่ครบเทอม เหลืออีก ๒ ปี อย่าคิดอะไร พักผ่อนเท่ๆ ล้างมือจบ

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คอยดูวันที่ ๒๓ ธันวาคมนี้ จะมี ส.ส. มีรัฐมนตรี ลาออกเพื่อย้ายพรรคให้ทัน ไม่งั้นจะตกขบวน นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศยุบสภา…๐

อืมมมม….

ถึงขนาดนี้ “ทักษิณ” ไม่เคยคิดจะพัก

หลายพรรคการเมืองตอนนี้เปิดหน้าเล่นกันเกือบหมดแล้ว

คงจะเหลือแค่พรรคเพื่อไทย ที่ยังซ้ายหันขวาหันตามนักโทษหนีคุก

ถ้าไม่จริงก็เถียงมา!

๘๐ ล้านบาทคือราคาซื้อ ส.ส.ต่อ ๑ หัว จริงหรือไม่

คนนอกไม่รู้ครับ แต่คนในรู้ดีว่าราคา ๘๐ ล้าน จ่ายไปคุ้มแน่ ถ้าเลือกตั้งแล้วชนะแลนด์สไลด์

พูดถึงการซื้อตัว ส.ส.ไม่ใช่เรื่องใหม่

ในอดีตซื้อยกก๊วนก็เคยมีมาแล้ว

ฉะนั้นการซื้อรายหัวถือเป็นเรื่องความเลวทรามทางการเมืองที่สุดแสนจะธรรมดา

ในอดีตต่างหากที่สร้างความฉิบหายให้กับการเมืองไทย ระบอบประชาธิปไตยของไทยมาจวบจนวันนี้

ย้อนไปไกลหน่อย การย้ายพรรคของ ส.ส.เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบริบทที่แตกต่างกันออกไป

ตั้งแต่การเมืองยุคคณะราษฎรผลัดกันชิงอำนาจ พรรคการเมืองถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานการเมือง เกิดดับในช่วงเวลาอันสั้น มีการซื้อตัว ส.ส.รวมทั้งบังคับ เช่นกรณีพรรคเสรีมนังคศิลา หรือแม้กระทั่งยุคหลังจากนั้น พรรคสหประชาไทย เรื่อยมาจนถึงพรรคสามัคคีธรรม ก็ดูด ส.ส.กันไปมา

แต่ในอดีตมันเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับรัฐบาลหลังการรัฐประหาร

หลังรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ประกาศใช้ พี่น้องชาวไทยพากันดีอกดีใจว่าประเทศก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบเสียที

แต่แล้ว…ทักษิณ ได้สร้างตำนาน “ซื้อยกเข่ง เซ้งยกพรรค”

“ทักษิณ” เปิดฉากดูด ส.ส.พรรคอื่นเข้าพรรคไทยรักไทย ทันทีหลังชนะการเลือกตั้ง ๖ มกราคม ๒๕๔๔

เริ่มต้นที่ พรรคเสรีธรรม ๑๔ เสียง ของ “ประจวบ ไชยสาส์น” ขณะนั้นเป็นพรรคฝ่านค้าน

ทำให้ ส.ส.ไทยรักไทย เพิ่มขึ้นเป็น ๒๖๒ เสียง กลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคเดียวมี ส.ส.เกินครึ่งสภา

ต่อมาถึงคิวพรรคความหวังใหม่ของ “พ่อใหญ่จิ๋ว” ถูกดูดไป ๓๓ จาก ๓๖ คน

ตามด้วยชาติพัฒนา ๒๙ เสียง

จนมาถึงการเลือกตั้งปี ๒๕๔๘

พรรคไทยรักไทยที่เกิดจากการควบรวมพรรค ความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม และพรรคเอกภาพ ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. ๓๗๗ จาก ๕๐๐ ที่นั่ง

สมัยนั้นนักวิชาการต่างสรุปตรงกันว่า ปฏิบัติการดูด ส.ส.ยกพรรคของ “ทักษิณ” เป็นไปเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในสภา

จงใจหลบเลี่ยงกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ

รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่เชื่อกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เป็นต้นเหตุทำให้ “ทักษิณ” ในเทอมสอง ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย

เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เสียง ๒ ใน ๕ ของสภา

หรือ ๒๐๐ เสียงขึ้นไป ถึงจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ตามสถิติ หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน

พบว่า วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๔ มี ส.ส.ย้ายพรรคจำนวนร้อยละ ๑๗.๖

และในการเลือกตั้ง วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ มี ส.ส.ย้ายพรรค ร้อยละ ๙.๖

เป็นการย้ายพรรคโดยการยุบรวมพรรค

งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า พูดถึงกรณีนี้ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้มีการทุ่มเงินเพื่อซื้อนักการเมืองทั้งพรรคการเมืองแทนที่จะซื้อเป็นรายบุคคล

และเป็นการซื้อระยะยาวแทนการซื้อแบบครั้งคราว

รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ถึงต้องแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการกำหนด ห้ามมิให้มีการควบรวมพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร

ที่จริงรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มีเจตนารมณ์ที่ดี ต้องการให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้มแข็ง ๒ พรรค เช่นในอเมริกา ยุโรป

รัฐธรรมนูญอยากเห็นระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองเพียงสองพรรค

แต่เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญถูกทำลายโดย “ทักษิณ” ที่สร้างเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา

เพราะพรรคการเมืองไม่ได้เป็นการเติบโตจากภายใน ที่มุ่งเสริมสร้างอุดมการณ์ร่วมกันของสมาชิกภายในพรรค

แต่กลับเป็นการเติบโตจากภายนอก โดยการซื้อตัวนักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่น

หรือการซื้อทั้งพรรคด้วยการควบรวมพรรคการเมือง

การเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่สมาชิกภายในพรรคขาดอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันนั้น ไม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการทางการเมืองแต่อย่างใด

แต่กลายเป็นว่าพรรคการเมืองเป็นเพียงแค่คอก ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวกันของผู้ที่ต้องการจะเป็น ส.ส.เท่านั้น

และปรากฏข้อเท็จจริงแล้วในรัฐบาลทักษิณ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๘ รัฐบาลอยู่ครบวาระ ๔ ปี

ก่อนกำหนด ๙๐ วัน จึงมี ส.ส.จำนวนมากขอลาออกเพื่อย้ายพรรค

ฉะนั้นที่ “ทักษิณ” ทำในวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่เคยเกิดมาแล้ว

และ “ทักษิณ” นั่นเองเป็นคนทำให้เกิด

Written By
More from pp
นวัตกรทรู “โกอินเตอร์” ดังไกลต่อเนื่อง แม้วิกฤตโควิด-19 คว้า 3 รางวัล จากเวทีระดับนานาชาติ “ARCHIMEDES-2020” รัสเซีย บทพิสูจน์องค์กรนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับชีวิตคนไทยสู่ยุคนิว นอร์มัล อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
22 พ.ค.63 – กลุ่มทรู โดย ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน พร้อมด้วยทีมงานนวัตกรจากทรู อินโนเวชั่น...
Read More
0 replies on “ย้อนอดีตคอกส.ส.-ผักกาดหอม”