ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์Facebook ส่วนตัวระบุถึง ความเคลื่อนไหวการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Federal Open Market Committee (FOMC) เป็นไปตามคาดที่มีมติขึ้นดอกเบี้ย +0.75% เป็น 4.00% โดยเป็นการขึ้นครั้งละ +0.75% เป็นครั้งที่สี่ หลังจากที่เคยขึ้นมาแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน, 27 กรกฎาคม, 21 กันยายน และสองครั้งก่อนหน้าก็ขึ้นดอกเบี้ยไป +0.25% เมื่อ 17 มีนาคม และ +0.5% เมื่อ 5 พฤษภาคม
สะท้อนให้เห็นว่า ในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน FOMC มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง +3.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นมาจาก 0.25% เป็น 4.0% แล้ว และยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ แต่คาดว่า จากนี้ไป คงขึ้นครั้งละไม่มากเท่านี้ น่าจะเป็นครั้งละ +0.25 ถึง +0.5% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะไปแตะระดับสูงสุดปีหน้าที่ประมาณ 4.75% ถึง 5.0%
ภารกิจหลักของธนาคารกลางสหรัฐ คือ รักษาเสถียรภาพของราคา และดูแลตัวเลขการจ้างงานให้อยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจเร่งตัวขึ้นแรงไป อัตราเงินเฟ้อสูง จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรง เช่น ช่วงปี 2015-2018 มีการขึ้นดอกเบี้ยรวม +2.25% หรือช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการว่างงานสูง ก็จะลดดอกเบี้ย อย่างช่วงปี 2019-2020 ก็มีการลดดอกเบี้ยร่วม -2.25% เพื่อประคองตัวเลขการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ล่าสุดวันนี้ มีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดขึ้นดอกเบี้ย +0.75% เป็น 3.00% สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) ของไทยมีกำหนดประชุมอีกครั้งเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% หากจำเป็น
เมื่อสหรัฐอเมริกายังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สกุลเงินอื่นย่อมอ่อนค่าลง มากน้อย เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยส่วนต่าง และอุปสงค์อุปทานในตลาด เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงอีก ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) มีการดูและแบบรอบคอบอยู่แล้วไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป
สำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของของค่าเงินบาท ไม่ควรเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะเราไม่ควรแทรกแซงค่าเงินโดยตรงหากไม่มีความจำเป็น และไทยเราเคยมีประสบการณ์การแทรกแซงค่าเงินจนเกิดความสูญเสียจำนวนมากมาแล้วในอดีต ภาคเอกชน ควรศึกษาและทำการป้องกันความเสี่ยง โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำกับดูแลไม่ให้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงสูงเกินไป