พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับการสร้างความเป็นธรรม เพื่อความปรองดองของสังคมอย่างแท้จริง

www.plewseengern.com

23 กันยายน 2565-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เดินทางไปยังบ้านพักของนางเรณู เนียนเถ้อ ราษฏรชาว จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อเยี่ยมเยียนและสอบถามความเป็นอยู่ของนางเรณู และครอบครัว หลังจากที่เมื่อ 12 ปีที่แล้วได้เคยให้ความช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมกับนางเรณูและลูกชาย กรณีที่ลูกชายเธอถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตาย

สำหรับคดีดังกล่าวในครั้งนั้น ถือได้ว่า เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2553 ในช่วงที่นายพีระพันธุ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนางเรณู เนียนเถ้อ ประชาชนชาว จ.สุราษฎร์ธานี

เพื่อขอความเป็นธรรมให้ นายอนุสรณ์ เนียนเถ้อ ลูกชายของเธอ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี หลังจากถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายเมื่อปี 2551

โดยขณะนั้น นางเรณู ยืนยันว่า ลูกชายของเธอ เป็นผู้บริสุทธิ์ ขณะที่นายอนุสรณ์เอง ก็ให้การว่าขณะที่เกิดเหตุนั้น ตัวเขาได้ไปกรีดยางก่อนที่จะเดินทางไปบ้านเพื่อน จึงไม่มีส่วนรู้เห็นกับการเสียชีวิตของผู้ตาย

ในการร้องเรียนดังกล่าว นางเรณู เล่าย้อนให้เห็นภาพในวันนั้นว่า เธอพยายามหาทางช่วยลูกชาย เพราะเธอเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูก แต่ตอนนั้นเธอหมดหนทาง แม้แต่จะประกันตัวลูกชายเธอออกมาเพื่อต่อสู้คดี แต่ระหว่างการต่อสู้คดีนั้น เธอก็ต้องประสบกับความยากลำบาก และเป็นทุกข์ เพราะเธอไม่รู้เรื่องกฎหมาย

จนกระทั่งถึงวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในปี พ.ศ. 2553 นายอนุสรณ์ ถูกตัดสินประหารชีวิต ในช่วงเวลานั้น เธอและครอบครัวมีความทุกข์มากเหมือนตายทั้งเป็น เธออยากจะตาย โดยไม่อยากรับรู้เรื่องดังกล่าว

อีกทั้งคนในครอบครัวเองก็พูดอะไรไม่ออก และรู้สึกผิดหวังกับการทำงานของตำรวจที่ไม่ยื่นหลักฐานสำคัญต่างๆ ที่สามารถช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกชายเธอได้

เช่น ไม่พบเขม่าดินปืนที่มือของลูกชายเธอ ซึ่งตำรวจไม่ได้ยื่นหลักฐานดังกล่าวเพิ่มเติมให้ ทำให้เธอรู้สึกเสียใจ และสิ้นหวังกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเธอยังถูกทนายความหลอกเงินเอาไปหลายแสน โดยบอกเธอว่าจะนำเงินไปวิ่งเต้นให้แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นางเรณู เล่าต่อด้วยว่าตอนนั้น นายพีระพันธุ์ ลงมาที่ จ.สุราษฎร์ธานีพอดี เธอก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ ท่านพีระพันธุ์ ตอนนั้นอยู่ในช่วงอุทธรณ์คดี เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2553 แค่เดือนเดียวก็ได้รับการติดต่อจากทางท่านพีระพันธุ์ว่าจะลงมาทำคดีให้

โดยให้ดีเอสไอมาตรวจสอบ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็มาร่วมทำงาน โดยฝ่ายพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบใหม่โดยพากันไปตรวจสอบหาหลักฐานในเกิดเหตุอีกครั้ง

ในการตรวจสอบคดีนี้ หลักฐานสำคัญคือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ เช่น คราบเขม่าดินปืนที่แผลด้านหลังของศพ ช่วงระยะเวลาการเสียชีวิต หรือหลักฐานที่พิสูจน์ได้อื่นๆ ปรากฏว่า ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน แต่ระหว่างที่กำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ อยู่ ก็ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือประหารชีวิต

จากนั้น ญาติของนางเรณู ก็ได้นำหลักฐานจากการตรวจสอบเพิ่มเติมที่พบมายื่นรวมในการยื่นฎีกาคดี กระทั่งอีกสามเดือนต่อมาศาลฏีกาก็พิพากษายกฟ้อง นายอนุสรณ์ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ในที่สุด รวมเวลาที่ นายอนุสรณ์ ต้องถูกจำคุก เพื่อรอการพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นเวลาถึง 4 ปี 9 เดือน

ปัจจุบันถึงแม้ นายอนุสรณ์ จะได้รับอิสรภาพและกลับไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่กับครอบครัวแล้ว และรับปากว่าจะไม่ผูกใจเจ็บกับคนที่ทำให้เขาต้องเข้าไปใช้ชีวิตแบบไร้อิสระในคุกเป็นเวลานาน แต่เขาก็ยังคงไม่สามารถลืมเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในครั้งนั้นได้ นับเป็นฝันร้ายที่ไม่อยากพูดถึงอีก

สำหรับคดีนี้ ผู้ที่ถือได้ว่า เป็นผู้เริ่มต้นให้เกิดความเป็นธรรมกับ นายอนุสรณ์ คืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ ในขณะนั้น ได้กล่าวถึงคดีนี้ว่า

การที่คนหนึ่งคนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทั้งที่ไม่ได้ทำผิด ถือเป็นเรื่องทุกข์ใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเขาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว และสังคมที่เขาอยู่ แม้จะเกิดขึ้นกับคนเล็กๆ แต่อาจจะสร้างความอาฆาตพยาบาทที่ยิ่งใหญ่ ทำให้กลายเป็นปัญหาการล้างแค้นกัน

ดังนั้น การที่จะช่วยเหลือใครสักคนไม่ได้หมายความถึงการช่วยคนเพียงคนเดียว แต่หมายถึงการช่วยสังคม ชุมชน ให้เกิดความสามัคคีปรองดอง และรู้สึกถึงความเป็นธรรมในสังคมที่เขาอยู่ได้


Written By
More from pp
จุรินทร์ คว้าตะหลิว โชว์ต้มยำกุ้ง กลางห้าง FOODHALL อินเดีย ส่งเสริมการค้าไทย
18 มกราคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย
Read More
0 replies on “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับการสร้างความเป็นธรรม เพื่อความปรองดองของสังคมอย่างแท้จริง”