กรมควบคุมโรค แนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ไม่เดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า ป้องกันป่วย “โรคไข้ฉี่หนู” และ “โรคเมลิออยด์”

www.plewseengern.com

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยประชาชน ซึ่งในช่วงนี้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ จึงขอให้ระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู และโรคเมลิออยด์ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานด้วยเท้าเปล่า

หากจำเป็นต้องลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรใส่รองเท้าบูทเพื่อป้องกัน และหลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที

www.plewseengern.com

13 กันยายน 2565- นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และโรคสำคัญที่มากับน้ำท่วมที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องมี 2 โรค ได้แก่

1) โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ ทั้งกับคนและสัตว์ เชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน หรือการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อได้ อาการของโรคไข้ฉี่หนู คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากที่น่องและโคนขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง

สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 กันยายน 2565 พบผู้ป่วย 1,410 ราย เสียชีวิต 9 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร

2) โรคเมลิออยด์ (Melioidosis หรือโรคไข้ดิน) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ

1.การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน

2.ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป

หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น

มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา

สถานการณ์โรคเมลิออยด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวน 1,908 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาอายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันทั้ง 2 โรค จะใช้วิธีใกล้เคียงกัน ดังนี้

หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง

กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง

หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที ตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422



Written By
More from pp
ส.ส. กรณิศ ลุย! เอาจริงเรื่องผลกระทบจาก อาคารสูงใน กทม. ชี้เขตวัฒนาหนักสุดผลักดันแก้ “กฎหมายผังเมือง” ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
จากปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างปัญหา ความเดือดร้อนให้กับประชาชนมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสาธารณูปโภค การจราจร สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ล้วนมีผลจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากมายที่เกิดขึ้น
Read More
0 replies on “กรมควบคุมโรค แนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ไม่เดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า ป้องกันป่วย “โรคไข้ฉี่หนู” และ “โรคเมลิออยด์””