26 สิงหาคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดฉากเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (The Seventh APEC Virtual Food Security Ministerial Meeting) ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลักดันนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก พร้อมจับมือร่วมเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค หนุนแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ ค.ศ. 2030 ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวต้อนรับคณะรัฐมนตรี และสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ พร้อมกล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า
ประเทศไทย มุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เอเปคมีการเจริญเติบโตในระยะยาว มีภูมิคุ้มกัน มีความครอบคลุม ความสมดุล และความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.2040 แผนปฏิบัติการเอาเทอรัว รวมถึงหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย คือ
“OPEN, CONNECT, BALANCE” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว Bio – Circular – Green Economy หรือ BCG Model
การประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร นับเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง และสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนความมั่นคงอาหารให้กับประชาคมโลก ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ ของโลก ซึ่งจากสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในปัจจุบัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชาชนประมาณ 670 ล้านคน จะยังคงขาดสารอาหาร นอกจากนี้ ผลกระทบและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นต่อระบบอาหารทั่วโลก เช่น วิกฤตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เอเปค ต้องปรับบทบาทและแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน
การประชุมครั้งนี้ สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ยังได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นทางการเมือง ในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โดยในร่างปฏิญญาฯ ได้ผลักดันนโยบายสำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย
ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ภาคเอกชน นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค ประจำปี 2565 ได้ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ การสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล การประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับการเกษตรและการค้าอาหาร และการนำโมเดลแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือโมเดล BCG มาปรับใช้
เชื่อมั่นได้ว่า ร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและอาหารของไทย นอกจากนี้ การสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี จะทำให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น
พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ยังผลักดันการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ทั้งเรื่อง Safety Security และ Sustainability ส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการ และในปี 2566
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางนโยบายเสริมสร้างบทบาทสตรีให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้แผนขับเคลื่อนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการเกษตรให้มีความทันสมัย สามารถวิเคราะห์และวางแผนการผลิต การเข้าถึงตลาด
รวมถึงผลักดันวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารที่สัมพันธ์กับปัจจัยการผลิตทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบเอเปค มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565
ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากการประชุมเอเปคพร้อมกันทั้งประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และได้มีการจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีก 12 การประชุมเรื่อยมา แน่นอนว่า การประชุมรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจร่วมกันครั้งนี้ เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายในการผลักดันความมั่นคงทางอาหาร
ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นนโยบาย BCG และ 3s รวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรและอาหารไทย ในฐานะ ‘ครัวโลก’ มีการผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้ประชากรในภูมิภาคเอเปคและโลก เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่งออกสินค้าเกษตรไปยังคู่ค้าในเอเปคได้มากขึ้น