กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษในช่วงเทศกาลปีใหม่
วันนี้ (30 ธันวาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประชาชนมักจะซื้ออาหารหรือน้ำดื่มจากนอกบ้านมารับประทานร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ขอให้ระมัดระวังอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง ที่บริโภคอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ระวังป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–23 ธันวาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวน 1,031,998 ราย เสียชีวิต 8 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา คือ อายุ 15–24 ปี และ 25–34 ปี ตามลำดับ ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ 105,672 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 15–24 ปี รองลงมา คือ อายุมากกว่า 65 ปี และ 25–34 ปี ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ สำหรับการป้องกันโรคใน ผู้เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ควรเลือกร้านที่แน่ใจว่าสะอาดหรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาดมีคุณภาพ ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องน้ำและสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนูในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ได้แก่
1) จ่อม/ลาบ/ก้อยดิบ
2) อาหารทะเล
3) อาหารประเภทยำ
4) ส้มตำ
5)ข้าวมันไก่
6) ข้าวผัด/ข้าวผัดโรยเนื้อปู
7) อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
8) ขนมจีน
9) สลัดผัก
และ 10) น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ
นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422