มหามิตร จีน-อเมริกา – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

โกอินเตอร์….

ภาพ “ลุงตู่” จับมือกับ “โจ ไบเดน” เล่นเอาบางคนถึงกับสำลัก

ที่จริงก็ไม่มีอะไรพิเศษ ในฐานะผู้นำประเทศด้วยกัน ปฏิบัติต่อกันแบบนี้เป็นเรื่องสากล เพียงแต่บางคนที่เอาแต่ท่องคาถา “บิ๊กตู่” เป็นเผด็จการทำไมอเมริกาให้การยอมรับ ว่าไปแล้วคนพวกนี้น่าสงสาร ไม่สามารถแยกแยะได้

ก็จมปลักอยู่กับการบูชานักโทษหนีคุกต่อไป

ครับ…มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายเกรงว่าการไป อเมริกาของ “ลุงตู่” เที่ยวนี้จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน มีการยกเอายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของอเมริกา ว่าเป็นใบเบิกทางให้ อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย

มองไกลไปถึงอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานยิงขีปนาวุธ

ก็ว่ากันไปครับเพราะนั่นคือ “ข้อกังวล” ที่ประชาชนแสดงออกต่อรัฐบาลได้

เพียงแต่ในข้อเท็จจริง “ลุงตู่” จะคิดสั้นให้ไทยเป็นแบบยูเครนอย่างนั้นหรือ?

อเมริกาพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลในอาเซียนรอบใหม่จริง หลังจากมองจีนรุกคืบมานานหลายปี

ถ้าพูดถึงการตั้ง “ฐานทัพ” อาจเป็นความคิดที่เก่าไปแล้ว เพราะแท้จริงแล้ว “ความมั่นคง” แยกย่อยออกไปได้หลายความหมาย

เกือบทุกประเทศไม่พร้อมให้อเมริกาไปตั้งฐานทัพ  ขณะที่ประเทศที่อเมริกามีฐานทัพอยู่ก็เริ่มมีการต่อต้าน  เช่นที่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไต้หวันเอง

ฉะนั้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ถือเป็นประเด็นใหญ่สุดที่หลายชาติต้องการคุยกับอเมริกา ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารที่คุยแล้วสุ่มเสี่ยงก่อปัญหาอื่นตามมา

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ จึงไม่ใช่การชี้นิ้วสั่งโดยอเมริกาว่าจะเอาทหารไปวางตรงไหน ไปรบกับใคร  เพราะยุทธศาสตร์ทางทหาร อเมริกามีครอบคลุม อินโด-แปซิฟิก อยู่แล้วโดยไม่ต้องใช้อาเซียนเป็นฐาน

เลวร้ายสุด อเมริกาอาจชวนอาเซียนทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีน แต่คงไม่มีอาเซียนชาติไหนยอมทำตาม

เวียดนามที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนก็คงปฏิเสธ เพราะทุนจีนในเวียดนามนั้นมหาศาล

ส่วนอาเซียนชาติอื่น อาทิ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ช่วงหลังมานี้ก็อาศัยทุนจีนในการพัฒนาประเทศ

ไทยเราทุนจีนมาลงทุนแทบจะน้อยที่สุด เพราะบทเรียนจากหลายๆ ประเทศในแอฟริกาทำให้ไทยระวังตัว  แต่ไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำสงครามเศรษฐกิจกับจีน

ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ของอเมริกา คืออะไร

และอเมริกาต้องการอะไร

ประเทศอื่นต้องการตามอเมริกาด้วยหรือไม่

ในมุมมองอเมริกา “อินโด-แปซิฟิก” เป็นภูมิภาคที่ทอดยาวจากชายฝั่งแปซิฟิกไปจรดมหาสมุทรอินเดียและเป็นที่อาศัยของผู้คนกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรโลก

มีขนาดเศรษฐกิจเกือบ ๒ ใน ๓ ของเศรษฐกิจโลก  รวมทั้งเป็นที่ตั้งของ ๗ กองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ในภูมิภาคนี้มากกว่าที่อื่นใดนอกสหรัฐฯ

ภูมิภาคนี้สนับสนุนงานของอเมริกามากกว่า ๓ ล้านตําแหน่ง และเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหรัฐฯ เกือบ ๙ แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง ๒ ใน  ๓ ของโลก จึงย่อมจะทรงอิทธิพลมากขึ้นและมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ยิ่งขึ้นไปในอนาคต

ยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ของอเมริกา พูดถึงจีนไว้อย่างน่ากลัว ราวกับเป็นปีศาจที่พร้อมทำลายทุกชาติ

อเมริกามุ่งให้ความสนใจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากภูมิภาคนี้เผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน

รายละเอียด ยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ของอเมริกา ระบุว่า ขณะนี้ จีนกําลังผสานพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ  การทูต การทหาร และเทคโนโลยีของตนโดยมุ่งหวังสร้างเขตอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และพยายามจะเป็นมหาอํานาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

จีนจึงวางอำนาจและรุกรานไปทั่วโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในภูมิภาคนี้ต้องแบกรับความเสียหายอันเกิดจากพฤติกรรมอันเป็นภัยของจีน

ตั้งแต่การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ (Economic  Coercion) ต่อออสเตรเลีย การสร้างความขัดแย้งตามแนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control) กับอินเดีย

ไปจนถึงการเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน

และการระรานประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

ในปฏิบัติการดังกล่าวนั้น จีนยังได้บ่อนทําลายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือ ตลอดจนหลักการอื่นๆ ที่นําเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ยุทธศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยอเมริกาฝ่ายเดียวนี้ทำให้จีนดูน่ากลัวจริง

แต่หลายชาติในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับจีน หนำซ้ำหลายๆ ประเทศเริ่มตั้งคำถามกับอเมริกาว่า กำลังนำสงครามมาสู่ภูมิภาคนี้หรือเปล่า

อาเซียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ อินโด-แปซิฟิก

อเมริกามีเป้าหมายกุมอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไว้ โดยมีอำนาจทางทหารคอยคุมเชิง แต่ก็ใช่ว่าพร้อมจะทำสงครามกับจีน เพื่อแย่งชิงความเป็นเบอร์ ๑ ของโลก

และจีนเองก็ไม่พร้อมทำสงครามกับใคร โดยเฉพาะชาติในอาเซียน

บทเรียนสงครามยูเครนทำให้หลายๆ ประเทศตระหนักแล้วว่า ไม่ควรให้ภูมิภาคของตัวเองเป็นสนามรบของอเมริกา

แต่ถ้าจะทำการค้า ก็มาคุยกัน

ฉะนั้นการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ จะจบลงด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่มีเรื่องความร่วมมือทางทหารเพิ่มเติม นอกจากการฝึกร่วมผสม คอบราโกลด์ และการฝึกทางทหารอื่นๆ ที่ทำมาต่อเนื่องอยู่แล้ว

กลับมาดูจีนกันหน่อยครับ

ท่าทีของจีนที่มีต่อไทยจากกรณี ลาซาด้า นั้นได้ใจคนไทยไปเต็มๆ

เพจ Chinese Embassy Bangkok ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยหยิบเอากรณีนี้มาเผยแพร่ โดยโฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ตอบคำถามเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในคลิปโฆษณาของลาซาด้า

Q : เมื่อเร็วๆ นี้ คลิปโฆษณาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazada ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศไทย สถานทูตจีนมีความรู้สึกอย่างไร

A : สถานทูตจีนประจำประเทศไทยรับทราบเหตุการณ์ดังกล่าว คิดเหมือนกันว่าคลิปโฆษณาที่เกี่ยวข้องมีเนื้อหาที่ยอมรับไม่ได้

Remarks of the Spokesperson of the Chinese  Embassy to the Kingdom of Thailand Concerning An  Advertisement on An E-commerce Platform

Q : Recently, a promotional video clip on e-commerce platform Lazada has sparked controversy in  Thailand. Does the Chinese Embassy have any comment?

A : The Chinese Embassy in Thailand has noticed  the incident, and shares the same view that the  content in the video is unacceptable.

ครับ…ที่จริงแล้วคนไทยไม่ได้ตั้งคำถามกับคนจีนหรือรัฐบาลจีน

แต่ถามหาความรับผิดชอบจากลาซาด้า ซึ่งเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของจีน

คำตอบที่ว่า “คิดเหมือนกันว่าคลิปโฆษณาที่เกี่ยวข้องมีเนื้อหาที่ยอมรับไม่ได้” นี่คือการตอบอย่างเป็นมิตร และมีความเข้าอกเข้าใจคนไทย

จีนรับรู้ว่าคนไทยให้ความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์

และจีนแสดงท่าทีไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป โดยที่รัฐบาลจีนไม่ทำอะไรเลย

กลับไปดูท่าทีของอเมริกาที่มีต่อไทยก่อนหน้านี้ต่างราวฝ่ามือกับหลังเท้า

แต่เราก็ไม่ควรเป็นศัตรูกับอเมริกา เพราะโลกเชื่อมถึงกันหมด

ถ้าถามว่าใครเป็นมิตรกว่ากัน

จีนเข้าใจคนไทยมากกว่า


Written By
More from pp
กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ย้ำจุดยืนมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม รับรางวัลด้านส่งเสริมอารยสถาปัตย์ดีเด่น ในงาน“Thailand Friendly Design Expo 2022 ครั้งที่ 6”
กว่า 64 ปีที่บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก
Read More
0 replies on “มหามิตร จีน-อเมริกา – ผักกาดหอม”