“เนวินธุ์” ผู้ช่วย รมว.ดีอีเอส เผยยอดร้องเรียนปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายผ่าน 1212 OCC สัปดาห์เดียวพบประชาชนร้องปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ 1,122 เรื่อง โดยราว 70% จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ เปิดชื่อ 5 จังหวัดมีการแจ้งปัญหามากสุด ได้แก่ กรุงเทพ บุรีรัมย์/นนทบุรี เชียงใหม่ นครปฐม และกาฬสินธุ์ ตามลำดับ
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ได้สรุปผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 31 มี.ค. – 6 เม.ย. 65 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวม 1,504 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ซึ่งมีจำนวน 1,122 เรื่อง โดยประมาณ 70% ของปัญหาคือ ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง)
ทั้งนี้ จังหวัด 5 อันดับแรก ที่มีการแจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามามากสุด ได้แก่ กรุงเทพ บุรีรัมย์/นนทบุรี เชียงใหม่ นครปฐม และกาฬสินธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการแจ้งเรื่อง “ปัญหาซื้อขายออนไลน์” และช่องทางการซื้อสินค้าที่มีการร้องเรียนปัญหามากสุดคือ เฟซบุ๊ก
สำหรับการร้องเรียนปัญหาลำดับรองๆ ลงมา ได้แก่ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการโทรสอบถาม/ขอคำปรึกษา/คำแนะนำเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบ แอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ และการดำเนินการหลังจากถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบออนไลน์
ทางด้านการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนผู้เดือดร้อนจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว 279 เรื่อง โดยบางส่วนไกล่เกลี่ยสำเร็จได้รับสินค้า หรือได้รับเงินคืนไปแล้ว
“จากสถิติการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ เราพบเคสที่มีการแจ้งเข้ามาซ้ำๆ หลายรายที่มีผู้ขายเดียวกัน ประกาศขายสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊กในชื่อต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อผู้ซื้อโอนเงินไปแล้ว ไม่ได้รับสินค้า ติดต่อผู้ขายไม่ได้เพราะมีการบล็อกเฟซบุ๊ก หรือปิดเพจหนี ดังนั้น ประชาชนผู้บริโภคควรรอบคอบ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนทำการสั่งซื้อ/โอนเงิน ได้แก่
1.เข้าไปอ่าน Feedback ตามกระทู้เว็บบอร์ด เพจโซเซียล หรือเว็บไซต์ที่มีการรีวิวของลูกค้าที่เคยใช้บริการ
2.ต้องมีการยืนยันตัวตนและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น โดยดูจากเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียน หรือ “DBD Registered” ที่ออกโดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
3.เปิดเพจหรือเว็บไซต์อย่างน้อย 1 ปี โดยเข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://who.is/ โดยระบุชื่อเว็บไซต์นั้น ๆ ลงไป โดยส่วนมากหากเป็นร้านค้าออนไลน์ปลอมจะมีอายุไม่ถึง 1 ปี เป็นต้น” นายเนวินธุ์กล่าว
ทั้งนี้ กรณีที่ประชาชนพบปัญหาจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีปัญหาในการใช้งานออนไลน์ หรือพบเนื้อหาข้อความที่ไม่ถูกต้องในโลกออนไลน์/โซเชียล สามารถร้องเรียน ขอคำปรึกษา หรือแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ ทางศูนย์ฯ จะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด โดยสามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทาง ดังนี้
สายด่วนโทร. 1212 อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ