เสือกระดาษ ‘ศาลโลก’-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

กลายเป็นสงครามน้ำลายไปซะงั้น

วุฒิสภาสหรัฐลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันหวยออก ประณามประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็น “อาชญากรสงคราม”

สภาคองเกรสสองขั้วฮึ่มๆ ใส่กันมาตลอด ก็กลับกลายเป็นว่า วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกัน กับเดโมแครต จูบปากกันซัดรัสเซีย

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ที่ศัตรูทางการเมืองจะร่วมกันลงมติเป็นเอกฉันท์ในเรื่องเดียวกัน แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเป็นการประณาม ปูติน

ก็สอดคล้องกับกรณีคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มีคำสั่งให้รัสเซียระงับการรุกรานยูเครน

คณะตุลาการศาลโลก มีคำพิพากษา ด้วยมติ ๑๓ ต่อ ๒ เสียง ให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในทันที

และศาลโลกเรียกร้องรัสเซียสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ว่ากองกำลังในยูเครนที่มีแนวคิดฝักใฝ่หรือได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลมอสโก จะไม่เคลื่อนไหวทางทหารเช่นกัน

ก็เช่นเคยครับ กองเชียร์กองแช่งของแต่ละฝ่าย วิจารณ์กันคึกคัก

รัสเซียต้องปฏิบัติตามศาลโลกอย่างเคร่งครัด ถอนทหารออกจากยูเครนทันที

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ดีใจเนื้อเต้น

บอกว่า “นี่คือชัยชนะครั้งใหญ่ของยูเครน คำสั่งนี้มีผลผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รัสเซียจะต้องปฏิบัติตาม เพราะหากเมินเฉยต่อคำสั่งนี้แล้ว รัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น”

ช้าก่อน!

แม้คำตัดสินของศาลโลกมีสถานะเป็น คำพิพากษา ถึงที่สุด และมีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา ๖๐

แต่ศาลโลกไม่มีกลไกบังคับตามคำพิพากษาโดยตรง

คู่กรณีต้องยื่นขอให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกมาตรการมาบังคับให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกได้ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔

แล้วรู้หรือไม่ว่า อเมริกาคือ จอมฉีก คำพิพากษาศาลโลก

เช่น กรณีศาลโลก มีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ ให้อเมริกายุติการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับด้านมนุษยธรรม เพราะละเมิดสนธิสัญญาไมตรีระหว่างอิหร่านกับอเมริกา ปี ๒๔๙๘

และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชนในอิหร่าน

คำตัดสินของศาลโลกเดือนตุลาคม ๒๕๖๑  สั่งให้รัฐบาลวอชิงตันยกเลิกมาตรการลงโทษ ในการส่งออกสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร สินค้าทางการเกษตร อุปกรณ์และบริการซ่อมแซมเครื่องบิน ไปยังอิหร่าน

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะเทือนวงการสิทธิมนุษยชน แต่ดูเหมือนว่าชาติในยุโรป ที่ถือหลักสิทธิมนุษยชนเป็นคัมภีร์ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้สักเท่าไหร่

แน่นอนอิหร่านชื่นชมคำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ และถือเป็นชัยชนะ

แต่รัฐบาลวอชิงตัน กลับเมินเฉย และระบุว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า

แม้ในข้อเท็จจริง ทั้งอเมริกา และอิหร่าน ต่างเคยเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลโลกมาแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ศาลโลก เป็นเพียงเครื่องมือในเกมการเมืองระหว่างประเทศสำหรับชาติมหาอำนาจเท่านั้น

“ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในขณะนั้นถึงกับอบรมว่ากล่าวศาลโลก ว่า

“ศาลโลกไม่ได้ตระหนักว่าศาลไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ และอิหร่านได้อาศัยศาลโลกเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง”

อเมริกายังเล่นบทนักเลงโต เช่น ในปี ๒๕๖๓  ขู่จะดำเนินการคว่ำบาตรและอาจยุติท่าทีสนับสนุนศาลโลก เพราะไม่พอใจที่อัยการสูงสุดของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักโทษในอัฟกานิสถานของเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐ

“จอห์น โบลตัน” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับโจมตีอย่างเผ็ดร้อน

 “ศาลอาญาโลกเป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของสหรัฐ เพราะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจและกระบวนการตรวจสอบ”

 “ไอซีซีเป็นองค์กรนอกระบบ เพราะสหรัฐไม่ยอมรับอำนาจใดที่สูงสุดเหนือไปกว่ารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา”

เอากะพี่แกซิครับ

ศาลโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙

มีฐานะเป็นองค์กรหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีสำนักงานเป็นหลักแหล่ง ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

หน้าที่หลักของศาลโลกมี ๒ ประการ คือ

๑.ตัดสินคดีพิพาทระหว่างรัฐบาลของรัฐภาคีที่เป็นสมาชิกของ UN และเป็นประเทศที่ยอมรับอำนาจของศาลโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด ๖๒ ประเทศ จากสมาชิก UN รวม ๑๘๘ ประเทศ

นอกจากนี้ยังรวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ ที่มิได้เป็นสมาชิกของ UN แต่ยอมรับอำนาจของศาลโลก

๒.วินิจฉัย ตีความ และให้คำปรึกษา ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแก่องค์กรระหว่างประเทศที่ยอมรับอำนาจของศาลโลก

ศาลโลก ประกอบด้วย คณะผู้พิพากษาต่างสัญชาติกันจำนวน ๑๕ คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๙ ปี

ขณะที่คณะผู้พิพากษาเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของ UN มิได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศที่ตนถือสัญชาติอยู่

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

มีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ ๔ ฐาน คือ

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

อาชญากรรมสงคราม

และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

ปัจจุบัน มีรัฐภาคี ๑๒๒ รัฐ

ทั้งศาลโลก ศาลอาญาโลก เป็นองค์กรภาคีระดับโลก แต่เมื่อไปทำให้นักเลงโตไม่พอใจ ก็กลายเป็นองค์กรเถื่อนไปในทันที

ถ้าจะเทียบให้ใกล้เคียงกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนมากขึ้น ก็จะเป็นกรณีที่นิการากัวกล่าวหาอเมริกา ว่าสนับสนุนกบฏคอนทราสก่อการร้ายด้วยการให้วางทุ่นระเบิดรอบๆ อ่าวนิการากัว ซึ่งอเมริกา ยื่นคัดค้านว่าศาลโลกไม่มีอำนาจ

แต่ศาลโลกยกคำคัดค้าน

สิ่งที่อมเริกาทำคือ เปิดตูดไม่สนใจคดี

คดีนี้สุดท้ายแล้ว ศาลโลกพิพากษาว่าอเมริกา ละเมิดสนธิสัญญาและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่ต้องไม่แทรกแซงและละเมิดอธิปไตยของรัฐอื่น

และให้ชดใช้ค่าเสียหาย

แต่อเมริกา ไม่ปฏิบัติตาม

นิการากัวจึงนำเรื่องไปสู่คณะมนตรีความมั่นคงฯ

ในการลงมติ ๑๑ ชาติลงมติให้ทุกรัฐเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ ๑ เสียงของอเมริกา และอีก ๑ เสียงในฐานะผู้แทนถาวรประจำคณะมนตรีความมั่นคงฯ ลงมติวีโต

แม้นิการากัวจะนำเรื่องไปสู่สมัชชาสหประชาชาติ ที่ลงมติ ๙๔ ต่อ ๓ เรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่อเมริกาไม่ยอม

สุดท้ายนิการากัวประชดเป็นฝ่ายยอมเสียเอง ถอนคำร้องของตนเองออกไปในปี ๒๕๓๕

และนี่จะเป็นคำตอบ หากรัสเซียทำหูทวนลม ไม่สนใจคำพิพากษาศาลโลก

สำหรับแฟน “ป๋าเปลว” อดใจรออีกไม่กี่วัน คนเราบางทีก็เหมือนเครื่องยนต์ ถึงระยะต้อง โอเวอร์ฮอล ก็ยกเครื่องใหม่นั่นแหละครับ

ให้ช่างแกะดูนั่นนิดนี่หน่อย อันไหนเสียก็เปลี่ยน เสร็จแล้วประกอบกลับเหมือนเดิม

ออกจากอู่ก็วิ่งปร๋อครับ


Written By
More from pp
รมว.สุชาติ พบปะลูกจ้างสหภาพรถยนต์มิตซูบิชิฯ เผย มุ่งสร้างรากฐานความมั่นคงแรงงาน – นำพาเศรษฐกิจ
19 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 42/2566 ของสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิ แห่งประเทศไทย
Read More
0 replies on “เสือกระดาษ ‘ศาลโลก’-ผักกาดหอม”