คปภ. Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนผนึกกำลังกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายประกันภัยพืชผลทางเกษตรฉบับแรกของไทย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมคณะผู้บริหาร พนักงานสำนักงาน คปภ. ร่วมประชุม Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ณ สำนักงาน คปภ.
โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดแผนการดำเนินงานตลอดทั้งโครงการ ตามขอบเขตการดำเนินงานในข้อกำหนดและขอบเขตงานของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิด ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมทั้งด้านพืชผล ปศุสัตว์ และประมง เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยลำไย การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การประกันภัยโคนม การประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน เป็นต้น รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษา วิจัย ดำเนินการตามโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ระบบประกันภัยได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติที่อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำระบบประกันภัยมาบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดภาระด้านงบประมาณการช่วยเหลือเยียวยา
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจได้นำเสนอรายงานเรื่องการปฏิรูปประกันภัยการเกษตรต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกษตรกรจัดทำประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม ซึ่งเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนให้การประกันภัยด้านเกษตรกรรมมีความยั่งยืน คือโครงสร้างทางกฎหมาย ซึ่งจะกำหนดกรอบภารกิจและความรับผิดชอบ ตลอดจนการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจน และเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและตระหนักถึงความสำคัญของระบบประกันภัย
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงร่วมกับศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้รองรับความเสี่ยงภัยของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ
ให้บริษัทประกันภัยช่วยรับภาระความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงแทนภาครัฐและรองรับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการงบประมาณของรัฐบาลในการชดเชยเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ
ให้ระบบประกันภัยร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตร และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยขยายตัวและเติบโต
ให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงภัยของเกษตรกร ที่เหมาะสมกับประเทศไทย
ให้ได้ข้อเสนอแนะที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านเกษตรกรรมประเภทต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ และพัฒนากรอบแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมกันกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยกำหนดส่งมอบงานภายใน 365 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญา
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน และมักจะเกิด pain point ต่างๆ เช่น การประกันภัยข้าวนาปี เมื่อมีความเสียหายต้องมีการประกาศภัยพิบัติของจังหวัดจึงจะเข้าหลักเกณฑ์ในการจ่ายสินไหมทดแทน
หากมีกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแต่ทางจังหวัดไม่ประกาศภัยพิบัติ เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการประกาศภัยพิบัติ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
จึงต้องมีการพิจารณาสินไหมทดแทนที่แตกต่างกัน ทำให้เกษตรกรได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนไม่เท่าเทียมกัน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้าไปอุดช่องว่างให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้ยั่งยืน อันเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“สภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และเกิดบ่อยครั้งขึ้น เช่น น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก
ดังนั้นการลดความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัยจึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในการชดเชยเยียวยาเกษตรกรเมื่อพืชผลเกิดความเสียหายจากภัยต่างๆ
และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปดำเนินการเพาะปลูกใหม่ รวมถึงเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย