ผบ.ทอ. เปิดแผนซื้อ เอฟ -35 เครื่องบินเจนเนอเรชั่น 5 เทคโนโลยีสูง ใช้เป็นเครื่องแม่บัญชาการรบแบบทวีกำลัง เผยเป็นจังหวะที่ดีช่วงตลาดราคาตก เจรจา ‘ล็อคฮีด มาร์ติน’ ลดราคาเพิ่ม หวังประชาชนเข้าใจ ไม่หวั่นทัวร์ลง

31 ธันวาคม 2564 – พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า กองทัพอากาศกำลังพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่า ที่ล้าสมัย ซ่อมบำรุงยาก และไม่คุ้มค่า ไม่ปลอดภัยในการบิน โดยเห็นว่าเครื่องบินขับไล่ เอฟ35 ของบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน ประเทศสหรัฐฯเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันราคาลดลงจากเดิม จากช่วงที่ออกสู่ตลาดใหม่ๆ ราคาเครื่องเปล่า 142 ล้านเหรียญ/เครื่อง เมื่อมีความต้องการและผลิตมากขึ้นทำให้ราคาลดต่ำลง ด้วยกลไกของการตลาดและการเมืองจาหการรวมกลุ่มพันธมิตรทำให้ราคาลดลงเหลือ 82 ล้านเหรียญ/เครื่อง

ขณะที่เครื่องบิน gripen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญ/ เครื่อง ดังนั้นเอฟ 35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง อยู่ที่การต่อรองราคากับบริษัทให้ได้ราคาต่ำสุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราจะได้ในราคาหลัก 70 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป เพราะตลาดเครื่องบินรบรายอื่นแทบขายไม่ออก ทั้งนี้จะริเริ่มตั้งโครงการในแผนงบประมาณ 2566ทันที เพราะถ้าไม่รีบทำตอนนี้ราคาอาจจะสูงขึ้น และถ้าในที่สุดต้องลุยก็ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจกระจ่างชัดในทุกประเด็น

“เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ควบคู่ไปด้วยในช่วง5ปีนี้ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินเดินหน้าไปเร็วมาก ซึ่งคำว่าศึกษาก็เหมือนเป็นการเดินเครื่อง ถ้าเราไปพูดคำว่าซื้อเลยเดี๋ยวจะโดนทัวร์ลง แต่ผมเชื่อยังว่าทัวร์จะไม่ลง เพราะผู้ที่เข้าใจจะสนับสนุนทันที เพราะ ทอ.ไม่ได้ซื้ออาวุธแต่ซื้อเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เราก็เป็นเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เสี่ยงชีวิตใช้เครื่องมือเพื่อปกป้องท่าน

ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ประชาชนก็จะสนับสนุน ยืนยันว่าเรารักเครื่องบินเหมือนลูก ไม่ได้ทิ้งขว้าง ถนอมกล่อมเกลี้ยงเหมือนลูก เช็ดถู อาบน้ำทุกวัน ถ้าประชาชนมาเห็นการดูแลเครื่องไม้เครื่องมือของเราก็จะชอบ ที่สำคัญไม่ได้ซื้ออาวุธมาเข่นฆ่าใคร ซื้อมาเป็นเครื่องมือให้ประชาชน แต่เราเป็นคนใช้แทน”

ส่วนที่มองว่าเป็นการซื้ออาวุธในช่วงที่ประเทศขาดแคลนงบประมาณ จากผลกระทบของโควิด19 นั้น พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า เรายอมรับในความไม่มี รับทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อยอมรับก็ต้องหาหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ด้วยการทยอยจัดซื้อครั้งละน้อย แต่เลือกของที่มีคุณภาพสูง และเรียนรู้เทคโนโลยีที่ได้รับ ซึ่งถ้าทำจริงๆกองทัพอากาศไม่มีวันที่จะทำร้ายประชาชนให้เดือดร้อน เพราะเรารู้สถานการณ์อยู่แล้ว แต่คงต้องถามประชาชนว่ารับได้หรือไม่ อย่างที่บอกว่าตนและกองทัพอากาศรักสิ่งที่เราทำเหมือนลูกและสิ่งที่เรามีไม่ใช่เพื่อตัวเราเองแต่เพื่อประชาชน

ผบ.ทอ.ยังอธิบายว่า จุดเริ่มต้นที่ ทอ.เห็นว่า เอฟ35เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากภาพรวมกำลังทางอากาศสำคัญอย่างยิ่งในการรบสมัยใหม่ และที่สำคัญจะรบแพ้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ข้างล่างแหลกราญ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กำลังทางอากาศแพ้ไม่ได้มีอยู่ 3 ประการ คือ ต้องมีอาวุธต้องที่มีคุณภาพ และต้องไม่ใช่ Second best แต่ต้องเป็น The best ทั้งเครื่องบินและการส่งกำลังบำรุง ไม่เช่นนั้นของที่บอกว่าดีที่สุดก็จะง่อยเปลี้ยเสียขาไม่สามารถไปสู้รบปรบมือกับใครได้

นอกจากนั้น ต้องมีความน่าสะพรึงกลัว เมื่อใครได้ยินแล้วต้องขวัญหนีดีฝ่อ แค่มีประจำการก็ถือเป็นการใช้งานเชิงนามธรรม อีกทั้ง ทอ.จะต้องมีขีดความสามารถในการร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนบ้านได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก และรอบๆบ้านคือเพื่อนที่รวมตัวกันเป็นอาเซียนต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน หากเพื่อนมีภัยความสนิทชิดเชื้อและเป็นมิตร เป็นพวกเดียวกัน ก็จะไม่มีใครกล้ามาแหยม

“ถ้าอาเซียนรวมตัวกันอย่างแน่นหนาและมีกำลังทางอากาศที่เข้มแข็ง เหมือนยุโรปที่รวมตัวกัน ใครจะไปกล้าทำอะไร และไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติเชิงรูปธรรมหรือการปฎิบัติเป็นนามธรรม ล้วนแต่เป็นความสามารถในการปฎิบัติการทางอากาศยุทธศาสตร์ และจะเป็นหัวใจในการสร้างและพัฒนากองทัพอากาศในอนาคต”

พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า เครื่องบินที่กองทัพอากาศประจำการอยู่ดีพอใช้ และเมื่อเก่าทรุดโทรมคุณภาพย่อมสู้ของใหม่ไม่ได้ และยังมีปัญหาเรื่องส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะอะไหล่ ที่ต้องใช้เวลานานในการจัดหามาทดแทน จึงต้องไปกว้านหาซื้อในตลาดมืด อนาคตข้างหน้าหากติดขัดและส่งกำลังบำรุงไม่ได้เพราะไม่มีอะไหล่ หรือเครื่องยนต์ บริษัทหยุดสายการผลิเครื่องบินก็ทำการบินไม่ได้

กองทัพอากาศจึงได้มองอย่างรอบด้าน ทั้งการโมดิฟายด์เครื่องเก่าแก่ และเครื่องกลางเก่ากลางใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกับมองหาเครื่องบินใหม่ ซึ่งเมื่อเรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกสรรอย่างดีและต้องใช้งานได้นาน เหมือนที่เราใช้ เอฟ16 มาถึง 35-40 ปี

“หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับคนที่ใช้รถยนต์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งมาตลอดแล้วใช้ดี ไม่มีเรื่องจุกจิกเลย ไม่ค่อยเสียหาย เราจึงเกิดความเชื่อมั่นเชื่อใจ ก็ไม่อยากเสี่ยงเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น เพราะเราเงินน้อยก็ต้องซื้อรถที่มั่นใจ จากบริษัทที่เรามั่นใจ แน่นอนว่าที่ผ่านมาเรามั่นใจในค่ายของอเมริกา ก็ต้องค่อยๆดูว่าเครื่องบินใดของอเมริกาที่ดีและมีเงินที่จะซื้อหาได้หรือไม่

ซึ่งเราก็พบว่าในปัจจุบันนี้เครื่องบินเอฟ 35 ค่ายของอเมริกามีสมรรถนะดีเลิศ ประเทศต่างๆล้วนต้องการซื้อมาใช้งาน หากมีโอกาสได้ใช้งานเครื่องบินเอฟ 35 ก็จะเป็นการยกระดับเข้าไปอยู่ในประเทศที่มีของดีใช้ ถือเป็นแถวหน้า และเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ ในเมื่อการซื้อต้องเวิลด์ไวด์ เครื่องบินเพื่อให้อะไรต่างๆพร้อม เอฟ 35 ก็ตอบโจทย์เกือบทั้งหมด”

ผบ.ทอ.กล่าวด้วยว่า ทอ.ยังให้ความสนใจกับการปฏิบัติการทางอากาศที่ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบด้วยการใช้ loyal wing man ซึ่งเป็นเครื่องบินไร้คนขับสมรรถนะสูงทำหน้าที่เป็นลูกหมู่ของเครื่องบินขับไล่ ซึ่ง ทอ. ออสเตรเลีย ร่วมกับบริษัทโบว์อิ้งทำขึ้นมาเพื่อให้ลูกหมู่ของเครื่องบินเอฟ18 โดยเครื่องบินลูกหมู่จะติดอาวุธได้ และสามารถบินเข้าไปยังเป้าหมายล่วงหน้าในระยะ 100-150 ไมล์

ในขณะที่ เครื่องบินแม่ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่หลักยังอยู่ข้างหลัง แต่แนวคิดของออสเตรเลียเกิดขึ้นที่หลังจากแนวคิดของ บริษัทร็อคฮีดมาร์ติน ที่ทำกับเอฟ 35 แต่ wing man AI ของเอฟ 35 ชื่อว่า Valkyrie เปรียบเหมือนเครื่องบินรบอีกหนึ่งเครื่องที่ไร้นักบิน แต่สามารถทำภารกิจโดยการคอนโทรลจากเอฟ 35 ซึ่งถือว่า น่าสนใจในระดับ force multiplier

“เราไม่จำเป็นที่จะมีเอฟ 35 เต็มฝูงอาจจะเป็นครึ่งฝูง 8 ถึง 12 เครื่อง แต่เราใช้ Valkyrie เพื่อเป็น wingmanต่อไป ซึ่งจะประหยัดมาก ขณะนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะก้าวกระโดด ดังนั้นหากกองทัพอากาศไทยได้รับการสนับสนุนทั้งจากคนไทยด้วยกัน จากฝ่ายการเมือง และภาคส่วยอื่นๆ ประกอบกับ ถ้าเรามีงบประมาณเพียงพอ ก็น่าจะขยับกำลังทางอากาศเข้าสู่ในมิติที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็งและก็รบไม่แพ้ เป็นที่อุ่นใจ”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพราะการที่ ทอ.จะเสนออะไรต้องคุยกันให้สะเด็ดน้ำก่อน ที่ผ่านมามีผลการสัมมนาฯ ถึงเจตนารมณ์ของ ทอ.แล้ว ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะนำเสนอความคิดที่เป็นรูปธรรมนี้สู่สาธารณชนต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรผิด อย่างไรก็ตาม โครงการต่างๆที่อดีตผู้บังคับบัญชา ดีทุกโครงการ แต่ยังไม่มีในความน่าสะพรึงกลัว และ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องส่งกำลังบำรุง ถ้าไม่รีบหาของใหม่อนาคตข้างหน้าจะเกิดปัญหาตามมาเพราะเครื่องบินรบที่เราประจำการจะไม่มีอะไหล่ทดแทนแล้ว

สำหรับข้อเท็จจริงและสถานภาพล่าสุดเกี่ยวกับโครงการ F-35 ข้อมูลอัพเดทล่าสุดเมื่อ 1 ธ.ค.64

1. จำนวน บ.F-35 ที่ส่งมอบแล้ว มากกว่า 730 เครื่อง
2. จำนวน ชม.บิน ของอากาศยานที่เข้าประจำการทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 463,001 ชม.บิน
3. จำนวน นบ.ที่ได้รับการฝึกตามโครงการแล้ว 1,535 คน

4. เข้าประจำการและปฏิบัติภารกิจโดยสมบูรณ์แล้วใน 6 หน่วย (Service) ประกอบด้วย ทอ.สหรัฐฯ นย.สหรัฐฯ ทอ.สหราชอาณาจักร ทอ.อิสราเอล ทอ.อิตาลี และ ทอ.นอร์เวย์
5. ประเทศที่เลือกใช้ปฏิบัติภารกิจภายในประเทศ ณ ปัจจุบัน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ฮอลแลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

6. เลขจำนวนเที่ยวบิน (Sorties) รวมทั้งหมดของ บ.F-35 ที่เข้าประจำการ ณ ปัจจุบัน คือ 267,263 เที่ยวบิน
7. แผนการเข้าประจำการ แบ่งเป็น ฐานบินจำนวน 30 ฐานบิน ปัจจุบัน เข้าประจำการแล้ว จำนวน 21 ฐานบิน และการเข้าประจำการบนเรือบรรทุก บ. จำนวน 16 ลำ* ปัจจุบัน เข้าประจำการบนเรือบรรทุก บ.แล้ว 8 ลำ (หมายถึงจำนวนเรือบรรทุก บ.)

8. ประเทศที่จัดซื้อผ่านโครงการ FMS มีทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล (F-35A 50 เครื่อง) ญี่ปุ่น (F-35A 105 เครื่องและ F-35B 42 เครื่อง) เกาหลีใต้ (F-35A 35 เครื่อง) เบลเยี่ยม (F-35A 34 เครื่อง) โปแลนด์ (F-35A 32 เครื่อง) และ สิงคโปร์ (F-35B 4 เครื่อง)
9. ตั้งแต่สายการผลิตตั้งแต่ล็อตที่ 1 จนถึงล็อตปัจจุบัน (ล็อตที่ 14) ราคาจัดซื้อจัดหาตามโครงการลดลงกว่า 70% โดย F-35A ปัจจุบันราคาอยู่ที่เครื่องละ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, F-35B ราคาอยู่ที่เครื่องละ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ F-35C ราคาอยู่ที่เครื่องละ 94.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาค่าปฏิบัติการต่อ ชม.บินถูกลงถึงร้อยละ 44 นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015

10. การซ่อมบำรุงและดำรงสภาพ
10.1 ค่าความน่าเชื่อถือของการปฏิบัติการได้ตาม FMC นั้น F-35A ได้ 9.1 ชม.บิน จากจำนวน ชม.ที่ต้องการ 6 ชม.บิน F-35B ได้ 5.8 ชม.บิน จากจำนวน ชม.บินที่ต้องการ 4 ชม.บิน และ F-35C ได้ 11.8 ชม.บิน จากจำนวน ชม.บินที่ต้องการ 4 ชม.บิน
10.2 จำนวน ชม.คนที่ใช้ในการซ่อมบำรุงตามระยะเวลาต่อ 1 ชม.บิน  F-35A คือ 5.5 ชม.บิน F-35B คือ 8.6 ชม.บิน และ F-35C คือ 8  ชม.บิน
11. ศูนย์ฝึก นบ.ที่สำคัญในเอเชียอยู่ที่ฐานทัพอากาศมิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่โกดังอะไหล่หลักจะตั้งอยู่ที่สหรัฐฯ 3 ที่ แลที่ยุโรป 1 ที่

Written By
More from pp
ผลประเมินไทยชนะ การ์ดตก กระตุ้นตลาด-ห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้าเข้มงวด
ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีเอส เผยผลสำรวจประเมินความเสี่ยงกิจการ/กิจกรรมผ่าน “ไทยชนะ” พบ “ตลาด ห้าง ศูนย์การค้า” เป็นจุดเสี่ยงน่ากังวล หลังผลประเมิน “การ์ดตก” พร้อมกระตุ้นเตือนผู้ประกอบการจริงจังเข้มงวดการใช้ไทยชนะ ส่วน...
Read More
0 replies on “ผบ.ทอ. เปิดแผนซื้อ เอฟ -35 เครื่องบินเจนเนอเรชั่น 5 เทคโนโลยีสูง ใช้เป็นเครื่องแม่บัญชาการรบแบบทวีกำลัง เผยเป็นจังหวะที่ดีช่วงตลาดราคาตก เจรจา ‘ล็อคฮีด มาร์ติน’ ลดราคาเพิ่ม หวังประชาชนเข้าใจ ไม่หวั่นทัวร์ลง”