ผักกาดหอม
สภาล่มซ้ำซากบ่อยไปนะ
ช่วงนี้ไม่ทราบ “นายหัวชวน” สั่งสภาจ่ายเงินเดือนท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ครึ่งเดียวหรืออย่างไร ถึงได้หนีประชุมสภากันบ่อยจัง
คงต้องขอร้อง “นายหัวชวน” เอาซะทีเถอะ จ่ายเงินเดือน ส.ส.ตามที่เซ็นชื่อเข้าประชุม
พวกลาบ่อย ขาดเป็นประจำ เซ็นชื่อเข้าประชุมแล้วหายหัว น่าจะเอาให้เข็ด
ครับ…อ่านข่าวสภาล่ม เป็นอันต้องกุมขมับ เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านกับรัฐบาล โทษกันไปมา ให้อีกฝ่ายรับผิดชอบ
ส.ส.มีหน้าที่อะไร?
๑.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
๒.พิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณทรงลงพระปรมาภิไธย
๓.การอนุมัติพระราชกำหนด
๔.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
-ตั้งกระทู้ถาม
-เปิดอภิปรายทั่วไป
๕.การตั้งคณะกรรมาธิการ
๖.การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี
หน้าที่หลักของ ส.ส. ต้องทำในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าไม่มีสภาก็จบเห่
องค์ประชุมเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่ครบประชุมต่อไม่ได้
ผลที่ตามมาคือ งานสภาไม่เดิน
เห็นด้วยกับ “นายหัวชวน” ครับ สภาล่ม เป็นการเสียโอกาสทั้งสองฝ่าย
รัฐบาลทำงานไม่ได้
ฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ได้
ถ้าทั้งสองฝ่ายยังเล่นการเมืองแบบเดิมๆ ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ก็จะตกกับประชาชนอีก
ฉะนั้นต่อไปฝั่งรัฐบาลต้องเตรียมคนให้พร้อม
องค์ประชุมสภา เป็นหน้าที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะทั้งสองฝ่ายคือองค์ประชุม
แต่ระบบรัฐสภา รัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก
เสียงข้างมากต้องประคององค์ประชุมไว้ให้ได้
ฉะนั้นความรับผิดชอบเรื่ององค์ประชุมจึงไปตกที่พรรคร่วมรัฐบาลในเบื้องต้น ต้องพยายามทำให้องค์ประชุมครบ
ส่วนฝ่ายค้านมองว่าการไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประชุมคือการคานอำนาจกับรัฐบาล
มันก็ถูก
เพียงแต่วันหนึ่งอำนาจสลับข้าง ยังจะมองเรื่องนี้เหมือนเดิมหรือไม่
ก็ไม่!
หากยอมรับกันเพียงว่า “องค์ประชุม” คือเกมที่เล่นในสภา ฝ่ายค้านไม่มีอำนาจอื่น นอกจากทำให้สภาล่ม ถือเป็นการเล่นการเมืองแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง
พรรคก้าวไกลที่บอกว่า เป็นพรรคคนรุ่นใหม่ เล่นการเมืองแบบใหม่ สุดท้ายก็ลงไปอยู่ในโคลนตมเหมือนกัน แทนที่จะทำให้ที่ประชุมสภาไปต่อได้ หากมีอะไรไม่ชอบมาพากล คนรุ่นใหม่มีสื่อโซเชียลอยู่ในมือ สามารถประจานความไม่ชอบมาพากลนั้นได้
แต่กลับเลือกใช้วิธีเก่า
วันหนึ่งพรรคก้าวไกลไปเป็นรัฐบาล ปฏิกิริยาแรกจากการที่ฝ่ายค้านทำสภาล่ม ก็คือ ทำเหมือนสิ่งที่พรรครัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้
โทษฝ่ายค้าน
นับแต่มีรัฐสภาไทย มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด
นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ สำหรับนักการเมืองไทย
สถานะเปลี่ยน
ความคิดก็เปลี่ยน
“หมอชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า
“ฝ่ายค้านจะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน
เพราะฝ่ายค้านไม่อยากเห็นสภาที่เป็นเป็ดง่อยทำอะไรไม่ได้เลย
แม้แต่ พ.ร.ก.เงินกู้ รัฐบาลยังไม่กล้าเอาเข้าสภา แล้วจะบริหารประเทศไปได้อย่างไร ตอนนี้ก็มีปัญหาเงินกู้ กยศ.ก็ยังไม่ออก เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน จะเอาเงินกู้มาช่วยก็ทำไม่ได้เพราะกลัวสภาล่ม
ยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่กลั่นแกล้ง แต่เราต้องการประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบของฝ่ายสียงข้างมาก”
เสียดาย “หมอชลน่าน” ไม่ได้พูดต่อว่า สมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็โดนฝ่ายค้านคว่ำองค์ประชุมบ่อยครั้ง
แล้วบทเรียนคืออะไร?
ผลัดกันคว่ำไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือเปล่า
พ.ร.ก.กู้เงินมันผ่านสภาไปกี่ฉบับแล้ว ฉบับใหม่จะเข้าสภาเมื่อไหร่รัฐบาลเขาต้องประเมินจากความพร้อมหลายๆ ปัจจัย
ถ้ารัฐบาลไม่มีเงิน จะเอาเข้าสภาก็กลัวสภาล่ม ก็สมควรแล้วที่จะยุบสภา แยกย้ายให้คนที่พร้อมกว่าเข้ามาทำงาน
แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
รัฐบาลเพื่อไทยก็เคยมีบทเรียนการเอา พ.ร.ก.กู้เงินเข้าสภา แล้วทำไมไม่รู้จักจำ
ทัศนคติของนักการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่ององค์ประชุมเรื่องเดียวครับ
ที่เห็นจนชินตาคือ เมื่อเป็นฝ่ายค้านมักฉลาดทุกเรื่อง รู้วิธีแก้ปัญหาทุกอย่าง
พอเป็นรัฐบาล ต่อมฉลาดตันขึ้นมาทันที
ไม่รู้อะไรสักอย่างยกเว้นผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ
ครับ…ทางเพื่อไทยเขาเคลื่อนไหวกันคึกคัก เตรียมรับ “ทิดปอง” เห็นว่าจะสลัดจีวรวันที่ ๒๙ ธันวาคม ที่จะถึงนี้
เจรจาต้าอ่วยกับ “วัน อยู่บำรุง” เรียบร้อยแล้ว เตรียมเก้าอี้ทีมงานโฆษกไว้รอรับ การเมืองหลังจากนี้ก็น่าสนุกสนาน
“ดร.เสกสกล” ต้องมาฟาดฟันกับ “ทิดปอง” แค่คิดก็เสียวแล้ว
ไม่รู้ติดนิสัยใคร?
เดี๋ยวนี้พระทั้งที่ยังห่มเหลืองอยู่ ดันพูดถึงธุรกิจที่จะไปทำหลังสึกกันแล้ว
เห็นว่า แบรนด์ “แม่ปอง”
เท่านั้นไม่พอ แม้ยังครองความเป็นพระอยู่ แต่บอกว่า จะไปอยู่พรรคเพื่อไทย แถมคุยกันเรียบร้อยแล้ว
คุยตั้งแต่ยังห่มเหลืองอยู่นี่นะ
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า