มโนราห์..มรดกโลก?-สันต์ สะตอแมน

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

เห็นข่าวตั้งแต่ต้นปี 62 แล้วล่ะ..

ครม.ไฟเขียว วธ.เสนอ “โนรา” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก!

และ3-4วันนี้ ก็ยิ่งให้มีความหวัง ดีใจเป็นที่สุด เมื่อนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผย..

“ได้รับรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่จัดขึ้น ที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้

จะมีการพิจารณาขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของประเทศสมาชิกที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองชุดต่างๆ มาแล้ว

ซึ่งแต่ละปีจะการพิจารณาจากรายการของแต่ละประเทศที่ส่งมาเหลือเพียง 55 รายการ โดยมีรายชื่อ โนรา ของประเทศไทยที่จะได้เข้ารับการพิจารณาอยู่ในลำดับที่ 46

นายชาย กล่าวว่า มีโอกาสสูงมากที่โนราของไทยจะได้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากที่ผ่านมาเอกสารของไทยได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการชุดย่อยโดยไม่มีการส่งกลับมาแก้ไข

และครอบคลุมประเด็นต่างๆแล้ว เช่น มีชื่อชุมชน คณะ กลุ่มบุคคล หรือ ปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยประเทศไทยมีสายตระกูลหลักที่สืบทอดโนราอยู่ในพื้นที่ภาคใต้

มีคณะโนราอาชีพกระจายเป็นส่วนใหญ่รวม 278 คณะ อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา

ทั้งนี้ สวธ.กำหนดจัดการแถลงข่าวการขึ้นบัญชีโนรา เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกาศผลการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์จากที่ประชุม กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ครับ..ในฐานะเป็นลูกหลาน “มโนราห์” คนหนึ่ง เห็นข่าวนี้แล้วก็ให้รู้สึกปีติ ผมไม่รู้หรอกว่า “ขึ้นทะเบียนมรดกโลก” แล้ว อาชีพโนราปักษ์ใต้จะดีขึ้นหรือไม่อย่างไร?

แต่..ภูมิใจกับคนมีใจรักในศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้ ที่ได้ช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำชู อนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานมาจวบจนรุ่นลูกรุ่นหลาน และรุ่นต่อๆ ไม่สิ้นสุด!

และที่ผมใช้คำว่า “ช่วยกัน” เพราะถ้าลำพังตัวมโนราห์ที่มีแต่หัวใจที่รักที่ศรัทธา ไม่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน ประชาชน-ชาวบ้านให้การสนับสนุน

ก็..เห็นจะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่มโนราห์จะยังมีลมหายใจ ยืนหยัดยึดเป็นอาชีพที่พอจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ได้เช่นทุกวันนี้

เคยคิดอยู่เหมือนกันว่า หมดคนเฒ่าคนแก่ไปแล้ว โนราจะมีใครเหลือให้ดูอีก แต่เอาเข้าจริงมโนราห์ใช่ว่ามีแค่คนแก่-คนเฒ่าที่ดูเสียที่ไหน

ตามโรงเรียน ตามมหาวิทยาลัยภาคใต้ก็ดูเหมือนจะได้มีเรียน-การสอนโนราอยู่หลายแห่ง ซึ่งก็แสดงว่าเด็ก-เยาวชนมีใจรัก-หลงใหล-ศรัทธาในศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้ยังมีอยู่มาก

ที่เอาจริง เอาจัง เอาดี ฝึกฝนจนช่ำชองเชี่ยวชาญ ก็สามารถนำมาต่อยอดประกอบใช้ในวิชาชีพได้ ส่วนที่ไม่ได้เอาจริง เอาจัง จะด้วยขาดพรสวรรค์ หรือความอดทนมีน้อย..

ก็ยังมีใจผูกพัน ไม่ได้รังเกียจ-หลงลืมเสียงปี่กลองทับเสียทีเดียว!

ผมเนี่ย..ยามว่าง-อยู่บ้านก็มักจะเปิด “ดนตรีมโนราห์” ทางยูทูปฟังไปด้วยกันกับ “(รูป)พ่อ” ที่ติดข้างผนังอยู่บ่อยๆ เพราะคิดเอาว่าอดีตท่านเคยรำ-เคยตีทับอยู่กับคณะมโนราห์มาบ้างน่าจะชอบ

ซึ่งชอบ-ไม่ชอบไม่รู้ แต่เห็นหน้าท่านยิ้ม..

ผมก็..สุขใจ!


Written By
More from pp
“ก้าวไกล” ยืนยันคำเดิม ‘ร่าง รธน. ฉบับ iLaw’ ต้องเป็นร่างหลัก!
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ ก่อนการอภิปรายรับหลักการ ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ในวันนี้ โดยยืนยันว่าจะเสนอให้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการเข้าชื่อกันของประชาชนกว่า 9...
Read More
0 replies on “มโนราห์..มรดกโลก?-สันต์ สะตอแมน”