นับตั้งแต่การเกิดโรคโควิด 19 ระบาดหนักเมื่อต้นปี พ.ศ.2564 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีความห่วงใยในสถานการณ์ของประเทศและประชาชนอย่างมาก
ได้ทรงเพียรพยายามแสวงหาแนวทางที่จะช่วยแก้ไขภาวะวิกฤตินี้ให้แก่ประเทศ จึงทรงริเริ่มการวิจัยเพื่อสังเคราะห์ยารักษาโควิด 19 อย่างเร่งด่วน ด้วยทรงเห็นว่าการบริหารจัดการการระบาดของโรคนี้ต้องใช้ทั้งการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนและการรักษาที่มีประสิทธิภาพควบคู่กัน
ในฐานะที่ทรงเป็นนักเคมีอินทรีย์จึงทรงจัดทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสโควิด 19 และทรงเลือกยาตัวใหม่ที่ยังไม่ได้ออกสู่ตลาดชื่อ โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เพื่อเร่งวิจัยและสังเคราะห์สารนี้โดยเร็วที่สุด
ขณะนี้องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทรงประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์โมลนูพิราเวียร์ 2 วิธี ซึ่งคำนึงถึงกระบวนการสังเคราะห์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนสังเคราะห์มีประสิทธิภาพและต้นทุนไม่แพง และได้ปรับปรุงกระบวนการเพื่อผลิตได้ตัวยาในปริมาณสูงในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว จึงพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณานำไปใช้ในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรณีประเทศไทยไม่สามารถจัดหายานี้มาใช้ได้
เนื่องจากประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยานี้จากบริษัทผู้ผลิตจำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคาสูง ดังนั้นองค์ความรู้ในการผลิตโมลนูพิราเวียร์ได้เอง จึงเป็นสิ่งที่องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทรงเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านยาให้แก่ประเทศในการรับมือกับโรคระบาดและเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศที่จะพึ่งพาตนเองในยามคับขันอีกด้วย