รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่3 ในส่วนของท่าเรือ F เสริมศักยภาพสู่การเป็น Gate Way Port ประตูสู่การค้าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อมโยงตลาดโลก

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (25 พ.ย.) เวลา 9.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กับ กลุ่มร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ณ โรงแรมคอนคอนราด เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพท.) เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ พร้อมผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวในพิธีลงนามสัญญาฯ ว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งสำคัญเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจยกระดับความสามารถทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทยในการรองรับการขนส่งการค้าทางทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

อีกทั้งป็นการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยเพื่อให้ภาคโลจิสติกส์สามารถบริหารจัดการส่งได้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเชื่อมโยงกับนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศใน CLMV ผลักดันศักภาพไทยให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคของอินโดจีน และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือเป็น Gate Way Port และพร้อมต่อการก้าวสู่การเป็นท่าเรือระดับโลก

นอกจากนี้ ความร่วมมือในการพัฒนาครั้งนี้จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่จูงใจต่อการลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติในการขยายการลงทุนมาสู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทยให้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกที่เรียกว่า east-west corridor ให้ไปสู่ประเทศจีนทางตะวันตก จีนตอนใต้ และอินเดียซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาตร์ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางการค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มมูลค่าในมิติต่างๆ ทั้งขนส่ง ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และบริการ สามารถสรางรายได้ให้ประเทศ ประชาชน กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคต่างๆ ประชาชนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจแท้จริงของรัฐบาลชุดนี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าว การลงนามในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F ครั้งนี้ จะทำให้ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี ทั้ง 4 โครงการ ได้เอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) ครบทุกโครงการ ต่อจากโครงการที่ได้เอกชนผู้ร่วมลงทุนและเดินหน้าลงทุนไปแล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3   โดยมูลค่าลงทุนรวมในโครงสร้างพื้นฐานหลัก  4 โครงการอยู่ที่ 633,401 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (61%) และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (39%)

ทั้งนี้ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F  จะมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี มีเงื่อนไขสัญญากลุ่มที่กลุ่ม GPC จะเริ่มจ่ายค่าสัมปทานในปีที่ 3 นับจากออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (NTP) ในวงเงินประมาณ 70 ล้านบาท และปรับเพิ่มขึ้นตามการเจรจาข้อตกลงในสัญญา จนถึงปีที่ 35 คิดเป็นค่าตอบแทนทั้งหมด 87,471 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) จะอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานแปรผันที่ 100 บาทต่อทีอียู

มีกำหนดเปิดดำเนินการปลายปี 2568 โดยโครงการฯ จะเพิ่มศักยภาพรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี  รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น และเชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก (Dry port) กับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า และเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าภูมิภาคเอเชียไปสู่ตลาดโลก


Written By
More from pp
“๓ ป.” ไม่ฆ่าน้อง!-ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ข่าว ๓ ป. ขัดแย้ง ช่างหนาหูจริงๆ ว่ากันว่า ไม่มีมูลหมาไม่ขี้ ไม่มีเหตุย่อมไม่มีผล วานนี้ (๒๔ กันยายน)...
Read More
0 replies on “รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่3 ในส่วนของท่าเรือ F เสริมศักยภาพสู่การเป็น Gate Way Port ประตูสู่การค้าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อมโยงตลาดโลก”