ระเบิดเวลาลูกใหม่-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วนมาตามฤดูกาล

คิวต่อไป…แก้ไขรัฐธรรมนูญ            

ครับ…ประเทศไทยไม่เคยขาดประเด็นที่จะนำไปสู่การชุมนุม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไขการชุมนุมได้เสมอ

เราจะเห็นว่าหลายครั้งจุดประสงค์มิได้อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เป็นการเพิ่มดีกรีทางการเมือง ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

และหากย้อนกลับไปดูสถิติ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นแทบทุกรัฐบาล

ทั้งรัฐบาลขอแก้ไขเอง

และฝ่ายค้านขอแก้ไข

มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว

ตลอดระยะเวลา ๘๙ ปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จไปทั้งสิ้น ๒๓ ครั้ง

ทุกครั้งมีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเมือง เพื่อตอบสนองทางการเมือง ของพรรคการเมืองเป็นหลัก น้อยครั้งที่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง

ฉะนั้นประเด็นที่ถูกแก้ไขลำดับต้นๆ คือ วิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มาของ ส.ว. สภาเดี่ยวสภาคู่ รวมไปถึงวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ย้อนกลับไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกปี ๒๔๗๕ แก้ไขรวมทั้งหมด ๓ ครั้ง

หนึ่งในนั้นคือวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.

รัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๐ แก้ไขทั้งหมด ๓ ครั้ง ประเด็นที่แก้ไขมี การเลือกตั้ง ส.ส วิธีร่างรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ แก้ไขครั้งเดียว คือการรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๒๑ แก้ไข ๒ ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการเลือกตั้ง  ส.ส. และการประชุมรัฐสภา

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๓๔ แก้ไข ๖ ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการประชุมรัฐสภากับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ การประชุมรัฐสภา อำนาจวุฒิสภา คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นต้น

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แก้ไข ๑ ครั้ง คือ การแก้ไขคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ แก้ไข ๒ ครั้ง เป็นการแก้ไขการเลือกตั้ง  ส.ส. และการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตามลำดับ

รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ แก้ไข ๔ ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการทำประชามติ ๒ ครั้ง, จำนวนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นต้น

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ แก้ไข ๑ ครั้ง มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑  การเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต  ๔๐๐ คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ และการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค เหมือนรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ยังไม่นับรวมการเสนอขอแก้ไข แต่ไม่สำเร็จอีกนับไม่ถ้วน และแทบทุกครั้งล้วนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามมา

วันนี้ (๑๖ พฤศจิกายน) มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ๑ ฉบับ ผู้เสนอเรียกว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

มาจากการเข้าชื่อของประชาชนจำนวน ๑๓๕,๒๔๗ รายชื่อ

สาระสำคัญตามหลักการและเหตุผลที่ภาคประชาชนขอแก้ไขคือ

๑.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐสภา ในหมวดที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องรัฐสภา

จากเดิมมีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว

ให้เหตุผลว่าวุฒิสภาเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเพิ่มบทบาทให้สภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส.ฝ่ายค้านตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

๒.การปรับโครงสร้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการเป็นองค์กรที่คำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร มีผลต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายทางรัฐธรรมนูญทั้งหมด จนกลายสภาพเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และมีการใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเสนอให้แก้ไขให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๙ คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ๓ คน  ส.ส.ฝ่ายค้าน ๓ คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด  ๓ คน ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก และห้ามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันมีผลขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

๓.การให้องค์กรอิสระต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้

๔.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยแก้ไขให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓  วาระ ไม่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยวาระ ๑ และ ๓ ใช้เสียงสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ๒ ใน ๓ ส่วนการแก้ไขวาระ ๒ ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

๕.การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๗-๒๖๑ ที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

๖.การเพิ่มหมวด เรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร วันที่ ๒๒  พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงการให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ต่อต้านการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ

โดยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ก่อการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหารหรือความสมบูรณ์กฎหมายแก่ผู้ก่อการรัฐประหาร

ครับ…ในภาพรวม เจตนาเสนอเพื่อไม่ให้ผ่านสภา

ยิ่งไปโฆษณาว่าเป็นฉบับ “ล้ม ล้าง โละ เลิก” ก็ยิ่งสะท้อนเจตนาใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองให้มากกว่าเดิม

เป็นการแสร้งเสนอเนื้อหาเชิงอุดมคติ แต่เบื้องหลังคือเจ้าเล่ห์

ความอัปยศของ ๖ ข้อนี้คือ ไม่มีข้อไหนพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันเลย

หรือประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อทั้ง ๑๓๕,๒๔๗ รายชื่อ เห็นการคอร์รัปชันโดยนักการเมืองเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่คือเรื่องไล่องค์กรอิสระ ไม่ให้มีที่ยืนในรัฐธรรมนูญ

แล้วยัดอำนาจใส่มือนักการเมือง ยัดไส้ ซ่อนเนื้อหาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ

“ตลกแดก” ครับ!

นี่คงจะเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม สานต่อคณะราษฎร

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามหลบเลี่ยงประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่เนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องคือประเด็นที่เคยนำไปผูกโยงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๕  โครงสร้างไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีมามากนัก

แบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ หมวด ๒  สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด ๓ สภาผู้แทนราษฎร หมวด ๔  คณะรัฐมนตรี หมวด ๕ ศาล หมวด ๖ หมวดพิเศษเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหมวด ๗ การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล

สาระสำคัญหลัก อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยาม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็นสามส่วน

โดยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

ก็เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองที่ถูกแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น มีการประนีประนอมระหว่าง คณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ต่อสภา ว่า

“…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำ ข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงเห็นชอบ ด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรง เห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…”

ในอดีตมีความขัดแย้งสูงมาก แต่การประนีประนอม นำมาซึ่งประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะมีความขัดแย้งกันเองในหมู่ชนชั้นนำคณะราษฎรในภายหลังก็ตาม

ปัจจุบันถ้าตั้งธงว่า “ล้ม ล้าง โละ เลิก” ด้วยทัศนคติแบบเด็กมีปมด้อย

ผลที่ตามมา ขัดแย้งไม่รู้จบ

Written By
More from pp
ได้เวลาลืมตาอ้าปาก! “ชาดา” ขอบคุณสภาฯ ผ่าน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ตามที่ส.ว.ปรับแก้ หลังลุยผลักดันจนเป็นผลสำเร็จ
ได้เวลาลืมตาอ้าปาก! “ชาดา” ขอบคุณสภาฯ ผ่าน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ตามที่ส.ว.ปรับแก้ หลังลุยผลักดันจนเป็นผลสำเร็จ ตามนโยบายภูมิใจไทย ชี้ผลประโยชน์ จะตกกับคนปลูกอ้อยโดยตรง กว่า 3...
Read More
0 replies on “ระเบิดเวลาลูกใหม่-ผักกาดหอม”