25 ปีไทยโพสต์ ประเทศไทย 2539-2564

21 ตุลาคม 2564 “ไทยโพสต์” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 26 และจะเดินก้าวไปข้างหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่เมื่อมองย้อนหลังกลับไป 25 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 21 ตุลาคม 2539 การดำรงอยู่ของไทยโพสต์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อมๆ กับสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ในโอกาสครบรอบ 25 ปีเต็มของไทยโพสต์ ขอย้อนเหตุการณ์สำคัญๆ ในปีต่างๆ ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยทั้งแง่ดี แง่บวก

หลังก่อตั้งไทยโพสต์ได้ไม่นาน 2 พฤศจิกายน 2539 ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน ในวันดังกล่าวมีทารก 10 คน คลอดในเวลา 9.48 น. ซึ่งเป็นเวลาคาดหมายโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ปีถัดมา 2 กรกฎาคม 2540 เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคือ วิกฤตค่าเงินบาท ถูกโจมตีโดยเฮดจ์ฟันด์ต่างประเทศ จุดชนวนลุกลามก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ที่เรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” รัฐบาลไทยประกาศปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จากระบบตะกร้าเงินมาเป็นระบบลอยตัวกึ่งจัดการ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยดิ่งเหว ค่าเงินบาทลดฮวบ ต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ และใช้เวลานานหลายปีกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว และปลดปล่อยภาระหนี้จากไอเอ็มเอฟได้สำเร็จ

5 มีนาคม 2541 เกิดคดีสะเทือนขวัญ ตำรวจจับกุมนายเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปี 2 วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครฯ ผู้ต้องหาฆ่าหั่นศพนางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากโกรธแค้นที่นางสาวเจนจิราพยายามตีตัวออกห่างไปมีชายคนใหม่ทั้งที่ได้เสียกันแล้ว คดีนายเสริมได้กลายเป็นต้นตำรับการฆ่าหั่นศพ

1 ตุลาคม 2542 เหตุการณ์ก๊อดอาร์มี่ หรือนักศึกษากะเหรี่ยงคริสต์ สัญชาติพม่า ติดอาวุธสงคราม จำนวน 12 คน บุกยึดสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร จับเจ้าหน้าที่สถานทูตและประชาชนที่เข้าไปติดต่อเป็นตัวประกันไว้ได้ราว 20 คน จากนั้นก็ชักธงชาติพม่า และชักธงของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (Nationality League for Democracy) ขึ้นไปแทน โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ต่อมาตัวประกันแอบหนีมาได้จนเหลือแค่ 5 คน รัฐบาลไทยเจรจาต่อรอง ฝ่ายก๊อดอาร์มี่ขอเฮลิคอปเตอร์ไปส่งชายแดน จังหวัดราชบุรี เหตุการณ์จบลงในเวลา 25 ชั่วโมง

ไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อเช้าวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2543 กลุ่มก๊อดอาร์มี่ซึ่งมีผู้นำเป็นเด็กผู้ชายฝาแฝดอายุเพียง 12 ขวบ ชื่อ ลูเธอร์ กับ จอห์นนี ทู เป็นเด็กแฝดที่มีลิ้นสีดำ ชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าเชื่อว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด ร่วมกับกองกำลังนักศึกษาพม่าที่นำโดย นายเบดาห์ หรือปรีดา จำนวน 10 คน ซึ่งได้ปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 และระเบิด บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้ประมาณ 1,000 คน เป็นตัวประกัน จบลงด้วยกลุ่มก๊อดอาร์มี่เสียชีวิต 10 คน ตัวประกันปลอดภัย

กำเนิด “ระบอบ” ทักษิณ

ก่อนที่รัฐบาลชวน หลีกภัย จะยุบสภา เดือนพฤศจิกายน 2543 เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย นั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นก่อกำเนิด พรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร โดยการดูด ส.ส.และควบรวมพรรคการเมือง มีสมาชิกพรรคความหวังใหม่ กลุ่มวังน้ำเย็น พรรคเล็กพรรคน้อยอย่างพรรคราษฎร ให้มาเดินเข้าสู่สังกัดพรรคไทยรักไทย

การเลือกตั้งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ส่งผลให้ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย และเป็นจุดกำเนิดนโยบายประชานิยม ลด แลก แจม แถม

ถัดมา 3 สิงหาคม 2544 ทักษิณต้องเผชิญเรื่องอื้อฉาวหลังดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่นาน จากกรณี “คดีซุกหุ้น” ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ทักษิณ” พ้นผิดคดีซุกหุ้น ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง

วันที่ 18 มิ.ย.2544 “ทักษิณ” แถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง เขายืนยันว่าการให้คนอื่นถือหุ้นแทนเป็นไปตามหลักของธุรกิจและถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องของ “แบบฟอร์มการแจ้งทรัพย์สินที่ไม่ชัดเจน” พร้อมกับการยกคำพูดที่ลือลั่นมาจนถึงขณะนี้ นั่นก็คือ การกระทำของตนและภรรยานั้นน่าจะถือเป็น “ความบกพร่องที่สุจริต”

คำวินิจฉัยส่วนตนของ “ประเสริฐ นาสกุล” ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ถูกพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้นั่นคือ “หัวใจของการเมืองคือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้น ผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง (ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”

19 มกราคม 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสาร “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนั้นเป็นอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีพื้นที่รวม 563,000 ตารางเมตร และเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เผาสถานทูตไทยในพนมเปญ

29 มกราคม 2546 ขณะนั้นแม้จะยังไม่มีโซเชียล แต่เกิดข่าวลือในกัมพูชาที่ว่า สุวนันท์ คงยิ่ง ดารานักแสดงไทยขวัญใจชาวกัมพูชา ระบุว่า นครวัดเป็นของไทยกลายเป็นเหตุให้เกิดจลาจล มีการเผาและปล้นสะดม บุกเผาอาคารสถานทูตไทยและอาคารพาณิชย์ที่คนไทยเป็นเจ้าของอย่างโกรธแค้น จนกลายเป็นจลาจลขนาดใหญ่ในกรุงพนมเปญ ถึงขนาดที่ตัวท่านทูตและเจ้าหน้าที่ต้องปีนรั้วด้านหลังออกไปและกระโดดลงเรือที่แม่น้ำบาสักไปได้อย่างหวุดหวิด

เจ้าหน้าที่บางส่วนปีนรั้วข้ามไปยังสถานทูตญี่ปุ่นที่อยู่ข้างๆ ซึ่งทางทูตญี่ปุ่นได้ให้การช่วยเหลือ รัฐบาลส่งเครื่องบินลำเลียงซี-130 ไปรับคนไทยกว่า 500 คนกลับประเทศ ปิดด่านชายแดน ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และเรียกร้องให้กัมพูชาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนระอุ

4 มกราคม 2547 เกิดเหตุการณ์คนร้ายเผาโรงเรียนในพื้นที่ จ.นราธิวาส 20 แห่ง รวม 11 อำเภอ และยังบุกเข้าไปยึดค่าย ร.5 พันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ยิงทิ้งทหาร 4 นาย พร้อมยึดอาวุธปืนในคลังแสง คนร้ายได้อาวุธปืนไป 413 กระบอก (หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก)

นำไปสู่วาทะ “โจรกระจอก” จากปากของ “ทักษิณ” หลังจากนั้นมีการก่อความไม่สงบรุนแรงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2547 นี่เองได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรก ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 28 เมษายน มีกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์บุกโจมตีป้อมจุดตรวจของทหารและตำรวจ รวมที่มัสยิดกรือเซะด้วยเป็น 11 จุดใน 3 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา

หนึ่งในนั้นอยู่ที่จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี มีการยิงต่อสู้กัน ทำให้กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ที่บุกโจมตีวิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งน่าจะมีประชาชนปฏิบัติศาสนกิจด้านในอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ได้นำกำลังไปล้อมมัสยิดเอาไว้ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ก่อนตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย ส่วนจุดอื่นๆ ก็มีผู้เสียชีวิตทุกจุด รวมแล้ว 109 คน

“ทักษิณ” ออกมายอมรับในภายหลังว่า การอยู่มานานก็เริ่มใช้อำนาจมากไป ความจริงตามหลักของรัฐศาสตร์ต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง อย่างมือ 2 ข้าง มือหนึ่ง “เขาเรียกกำปั้นเหล็ก” ใช้กฎหมาย แต่มืออีกข้างต้องเป็น “ถุงมือกำมะหยี่” คอยดู คอยให้ความอบอุ่น ผมอยู่ในอำนาจนานเข้าเรื่องมันเยอะ ผมจึงบังคับใช้แต่กฎหมาย ไม่ดีเลย ถ้าผมอยู่ต่อไปต้องใช้ถุงมือกำมะหยี่ มืออบอุ่นให้มาก กฎหมายให้ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย

ถัดมา 25 ตุลาคม 2547 เกิดกรณีตากใบ จ.นราธิวาส ถือว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรง เริ่มจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว โดยถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่นั้นมามุงดูนับพัน จนทหารต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 6 คน

จากนั้นจึงมีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปยังฐานทัพแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งคนจำนวนมากถูกทุบตี ในจำนวนคนที่ถูกจับกุมมีคนอย่างน้อยอีก 79 คนเสียชีวิต การชันสูตรพบว่าเกิดจากการหายใจไม่ออก หมดสติกะทันหันจากความร้อนและการชัก จากสภาพที่แออัดเกินไประหว่างการเดินทาง อยู่ในรถบรรทุกกว่า 6 ชั่วโมง และจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม

รวมแล้วเสียชีวิต 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย

วิปโยคสึนามิ

ก่อนวันปีใหม่เพียงไม่กี่วัน 26 ธันวาคม 2547 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวมหาสมุทรอินเดีย ด้วยระดับความแรง 9.0 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดเข้าฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย อาทิ ศรีลังกา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไทย รวมถึงชายฝั่งบางส่วนของทวีปแอฟริกา มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 229,866 คน โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตถึง 5,395 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่และเป็นที่จดจำของคนไทยถึงทุกวันนี้

6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทย ของ “ทักษิณ” ชนะในการเลือกตั้งถล่มทลาย ได้ ส.ส.ทั้งหมด 376 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง เอาชนะพรรคคู่แข่งคือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เพียง 96 ที่นั่ง ทำให้เป็นพรรคการเมืองแรกที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ

ต่อมาการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ เพราะประชาชนอีกฝ่ายเห็นว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่ควรเป็นนายกฯ อีกต่อไป เพราะมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการชุมนุมนำโดย “สนธิ ลิ้มทองกุล”

เดือนกุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือที่เรียกว่ากลุ่มคนเสื้อเหลือง ในเวลาต่อมา ก่อตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ พร้อมกับเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมือง โดยมีแกนนำหลัก 5 คน คือ 1.พลตรีจำลอง ศรีเมือง 2 นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 4.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 5. นายพิภพ ธงไชย และมีนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาฯ ประสานงานกลุ่มเครือข่าย นอกจากนี้ ยังมีแนวร่วมที่มาจากหลายส่วนในสังคม ที่มีทั้งนักวิชาการและนักการเมือง

จากเหตุการณ์ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ ของ “ทักษิณ” ขายหุ้นมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท ในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่เสียภาษีแม้บาทเดียว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ จัดการชุมนุมใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ตั้งสโลแกนภารกิจ “กู้ชาติ” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเดินขบวนไปถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง

8-13 มิถุนายน 2549 การจัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี การครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นปีที่ครบ 225 แห่งการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ มีกษัตริย์จาก 29 ประเทศทั่วโลกตอบรับคำเชิญมาร่วมพระราชพิธี พระประมุขจาก 13 ประเทศเสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เอง 12 ประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน ครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก

19 กันยายน 2549 จากความวุ่นวายทางการเมือง การชุมนุมต่อต้านขับไล่รัฐบาลทักษิณของกลุ่มพันธมิตรฯ การยุบสภาของรัฐบาล ได้เป็นชนวนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก

กำเนิด นปช.-เสื้อแดง

ในปี 2550 ได้กำเนิดกลุ่ม นปช.-เสื้อแดงขึ้น แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปภ.) ก่อตั้งขึ้นวันไหน แต่เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่ม นปภ. (ที่ต่อมากลายเป็นกลุ่ม นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และต่อมาเรียกตัวเองว่า “คนเสื้่อแดง” เพื่อให้ตรงข้ามกับ “คนเสื้อเหลือง” หรือกลุ่มพันธมิตรฯ) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ” เป้าหมายกลุ่มก่อตัวขึ้นคือคืนอำนาจให้ “ทักษิณ” โดยกลุ่มนปช.มี 3 แกนนำหลักคือ จตุพร พรหมพันธุ์, วีระ มุสิกพงศ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นตัวปลุกระดมและขับเคลื่อนการรวมตัวของมวลชน

30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนคดีการยุบพรรคการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ.2549 เป็นคดีประวัติศาสตร์ โดยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 4 พรรคมีความผิดจริง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า, พรรคพัฒนาชาติไทย, พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี

2 มกราคม 2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง) ในเวลา 02.54 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุได้ 84 พรรษา
ทักษิณหนี!

แต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 หลังเข้ามอบตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ได้ขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยระบุวันเดินทางระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-10 สิงหาคม 2551 เพื่อร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ระหว่างในวันที่ 5-10 สิงหาคม 2551 เมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาลวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ทั้งสองคนไม่มา แต่ไปปรากฏตัวที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษพร้อมครอบครัว วันที่ 21 ตุลาคม 2551 และเป็นจุดเริ่มต้นของการหนีจนถึงทุกวันนี้

9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ “สมัคร สุนทรเวช” พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี หลังจากมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่านายสมัครได้ไปจัดรายการ “กินไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีฐานะเป็นลูกจ้างของเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้นได้มีการลงมติเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี

ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551 กลุ่ม พธม.ได้บุกยึดท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในทั้งสองพื้นที่

เมษายน 2552 โลกพบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ H1N1 เป็นการผสมกันระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน ไวรัส H5N1 หรือไข้หวัดนกที่เคยระบาดมาแล้ว และไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร ต่อมาในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ และมีผู้ติดเชื้อโดยรวม 29,370 ราย และเสียชีวิต 189 ราย

11 เมษายน 2552 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน +6 ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา กลุ่มคนเสื้อแดงบุกเข้าไปภายในโรงแรม ทำลายการประชุม และค้นหาตัวอภิสิทธิ์ เกิดการปะทะระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อน้ำเงิน ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องสั่งยุติการประชุมทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มเปิดการประชุม และเชิญผู้นำอาเซียนทั้งหมดเดินทางกลับทันที วันถัดมา กลุ่ม นปช.บุก “ทุบรถอภิสิทธิ์” ที่กระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้นยังมีการทุบรถยนต์ซึ่งมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการของนายอภิสิทธิ์โดยสารอยู่ด้วย กระทั่งนิพนธ์ก็บาดเจ็บ

23 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลตัดสินด้วยเสียงข้างมาก 8:1 เสียง มีมติยึดทรัพย์ “ทักษิณ” จำนวน 46,373 ล้านบาท นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดง ในเดือนมีนาคมมีการเทเลือดที่หน้าประตูทำเนียบรัฐบาล หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านพักอภิสิทธิ์ จากนั้นมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม ได้ข้อสรุปว่าจะมีการยุบสภา แต่ไม่สามารถสรุปวันเวลาได้ มีการวิจารณ์กันว่าเบื้องหลังมีการสั่งการจาก “ทักษิณ” ให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาทันทีเท่านั้น จนทำให้การเจรจาล่มไปในที่สุด ขณะที่แกนนำเสื้อแดงกลับไปปลุกระดมครั้งใหญ่

10 เมษายน 2553 มีการพบเห็นกองกำลังติดอาวุธ หรือที่เรียกว่า “ชายชุดดำ” ปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรก เวลาช่วงหัวค่ำ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแยกคอกวัว เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มชายชุดดำ ทำให้ “พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม” นายทหารที่เข้าควบคุมการชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต และต่อมาเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่บริเวณสี่แยกคอกวัว

19 พฤษภาคม 2553 เกิดเหตุการณ์ “เผาเมือง” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ปราศรัย “เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” ปลุกเร้าผู้ร่วมชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และในต่างจังหวัด เพราะมีการถ่ายทอดสดการชุมนุม ให้ลุกขึ้นมาเผาสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นจุดใกล้ที่ตั้งการชุมนุมของ นปช. ผู้ชุมนุม ขว้างปาสิ่งของคล้ายระเบิดขวดไปในห้าง มีการส่งเสียงเชียร์จากผู้ชุมนุมด้วยกันเองให้เผา
น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

3 กรกฎาคม 2554 ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กของ “ทักษิณ” ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย หลังจากใช้เวลาเปิดตัวในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยเพียงแค่ 49 วันเท่านั้น

หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศได้ไม่นาน ได้เกิดมหาอุทกภัยที่เกิดต่อเนื่องจากเดือน ก.ค. และมารุนแรงสุดในเดือน ต.ค. นับเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 813 ราย ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท แต่ “ยิ่งลักษณ์” ได้ตอบคำถามการแก้ไขสถานการณ์ว่า “เอาอยู่” ซึ่งกลายเป็นวาทะประจำตัวไปโดยปริยาย

เดือน กันยายน 2555 อุบัติเหตุรถสปอร์ตสีดำสุดหรูพุ่งชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ อายุ 40 ปี ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ จนร่างกระเด็นเสียชีวิตกลางถนน ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน เป็นอีกหนึ่งข่าวรถชนที่ถูกวิจารณ์ยับในรอบปี นั่นเพราะหลังจากเกิดเหตุ ผู้ขับขี่รถสปอร์ตกลับขับรถหนีไปจากที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว กระทั่งตำรวจไล่ตามรอยคราบน้ำมันเครื่องจนไปพบว่ารถคันดังกล่าวจอดอยู่ในบ้านหลังใหญ่ของนายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าสัวกระทิงแดง มหาเศรษฐีคนหนึ่งของประเทศไทย

ภายหลัง บอส วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทคนเล็กของนายเฉลิมได้เข้ามอบตัว โดยรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุเอง แต่ที่หลบหนีมาเพราะตกใจกลัว แต่คดีแตกหน่อไปอีกหลายคดีบางคนเสียชีวิตอย่างปริศนาท่ามกลางการจับตามองของสังคม

เดือน พฤศจิกายน 2556 เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในเดือนตุลาคม 2556 ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา โดยเฉพาะจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้จัดตั้งเวทีชุมนุมปราศรัยบริเวณสถานีรถไฟสามเสน หน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันถูกเรียกขนานกันในเวลานั้นว่า “ม็อบสามเสน”

ต่อมากลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เคลื่อนขบวนไปตั้งเวทีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชุมนุมที่ถนนสีลม และใช้ “นกหวีด” เป็นสัญลักษณ์การต่อต้าน

29 พฤศจิกายน 2556 กำเนิด “กลุ่มกปปส.” ซึ่งย่อมาจาก “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ โดยมี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นผู้นำ ใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง เพื่อขจัดอิทธิพลของ “ระบอบทักษิณ”

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม

20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03.30 น. กำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาเวลา 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. และออกคำสั่ง 12 ฉบับ วันที่ 21 พฤษภาคม มีประกาศ กอ.รส. เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต

กระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในประชุมร่วม 7 ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์สอบถาม “ชัยเกษม นิติสิริ” ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออกใช่หรือไม่ “ชัยเกษม” ตอบว่า ต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครองด้วยประโยคที่ว่า “หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ”

ก่อนที่จะสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขังที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมา เวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที

ปี 2558 เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ อาทิ 16 พฤษภาคม พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือหลวงพ่อคูณ มรณภาพ

16 สิงหาคม 2558 ประเทศไทยจัดกิจกรรม Bike for Mom ทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมปั่นจักรยาน 1.4 แสนคน ระยะทาง 43 กิโลเมตร เป็นกิจกรรมเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา

ถัดมาเพียงวันเดียว 17 สิงหาคม 2558 เกิดเหตุระเบิดบริเวณลานหน้าศาลพระพรหม เอราวัณ แยกราชประสงค์ มีผู้บาดเจ็บ 130 คน และมีผู้เสียชีวิต 16 รายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ระเบิดที่ใช้เป็นระเบิดทีเอ็นที ซึ่งพบมากในตะวันออกกลาง

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุระเบิดไม่ใช่การตอบโต้ไทย หลังส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ให้จีน แต่มาจากผู้เสียผลประโยชน์ในการค้ามนุษย์ หลังจากก่อนหน้านั้นเพียง 1 เดือน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ให้สัมภาษณ์ว่า แนวโน้มน่าจะเกิดจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง

11 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยจัดกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ หรือ Bike for Dad ทั่วประเทศ ระยะทาง 29 กิโลเมตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ

ร.9 สวรรคต

13 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังมีประกาศเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 ความว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น

แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี

วันที่ 1 ธันวาคม 2559 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อกราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภา จึงได้ประกาศให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้ ในทางนิตินัยถือว่าได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีพระราชโองการให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง อ่านคำพิพากษาจำคุก “ยิ่งลักษณ์” เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และความผิดกฎหมาย ป.ป.ช. และให้ออกหมายบังคับคดี ในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ต่อมาพบว่า “ยิ่งลักษณ์” ได้หลบหนีไปตามช่องทางธรรมชาติ ชายแดนไทย-กัมพูชา และไปปรากฏตัวที่กรุงลอนดอน

ส่วนจำเลยอื่นๆ ที่โดนตัดสินจำคุกมี นายภูมิ สาระผล 36 ปี, บุญทรง เตริยาภิรมย์ 42 ปี, มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 40 ปี, ทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 32 ปี, อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ 24 ปี, อภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง 48 ปี เป็นต้น

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง

1 พฤศจิกายน – 25 ธันวาคม 2560 ตูน บอดี้สแลม หรือนายอาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องชื่อดัง และทีมงานวิ่งโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อระดมทุนช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล (รพ.) ทั่วประเทศ รวมเวลาทั้งสิ้น 55 วัน

23 มิถุนายน 2561 เกิดเหตุการณ์ “13 หมูป่า” ติดถ้ำหลวง เมื่อทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” จ.เชียงราย นำโดยนายเอกพล หรือเอก จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก พร้อมเด็กๆ ในทีมอีก 12 คน ได้ติดอยู่ใน “วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” หมู่ 9 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทำให้เกิดปฏิบัติการกู้ชีพ 13 หมูป่า กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกที่ลุ้นระทึก โดยมีนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ระดับโลก เดินทางมาที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเพื่อช่วยเหลือทีมหมูป่า และใช้เวลาทั้งหมด 17 วัน ในการปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำได้สำเร็จ

8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นปรากฏการณ์ที่ฮือฮาของประเทศไทย เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ เสนอ พระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค ช่วงดึกในวันเดียวกัน มีการเผยแพร่พระบรมราชโองการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ยุติบทบาทไม่ให้ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยประกาศว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย ความว่า พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ 9 ต่อ 0 จากคดีที่ กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรค ทษช. กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ ทษช.นำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

24 มีนาคม 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 พรรคพลังประชารัฐ สามารถจัดตั้งรัฐบาล และรัฐสภามีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

1 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พลเอกหญิง ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี

ถัดมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

26 พฤษภาคม 2562 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัยย่าง 99 ปี ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยประธานองคมนตรีปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม โดยเป็น 1 ใน 9 สมาชิกราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ได้ถวายน้ำพระมุรธาภิเษก

2563 จุดเริ่มต้นระบาดโควิด

เริ่มต้นปี 2563 ในวันที่ 13 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันรายแรกในประเทศไทย และยังเป็นผู้ป่วยนอกประเทศจีนรายแรก โดยเป็นหญิงชาวจีนที่เดินทางมากับกลุ่มทัวร์จากนครอู่ฮั่น มายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มกราคม

ถัดมาวันที่ 31 มกราคม เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการระบาดในไทย พบผู้ป่วยชาวไทยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีนเป็นรายแรก เป็นคนขับแท็กซี่ซึ่งคาดว่าสัมผัสกับนักท่องเที่ยวจีนคนดังกล่าว

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี กรณีการเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ที่กู้ยืมมาจาก “ธนาธร” จากนั้น พรรคอนาคตใหม่เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวไกล โดยมี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นหัวหน้าพรรค

25 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ และจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (ศบค.) เป็นหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ รวบอำนาจการบริหารจากรัฐมนตรีทุกกระทรวง

กระทั่้งต้นเดือนเมษายน 2563 ที่มีการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ศบค. จึงผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดได้ รวมทั้งยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน เปิดโรงเรียน ห้างสรรพสินค้าและร้านค้า เพราะสถานการณ์การระบาดเริ่้มดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อบางวันแค่หลักหน่วยเท่านั้น

2564 ปีแห่งโควิด

ต่อเนื่องจากการระบาดที่สมุทรสาคร 4 มกราคม 2564 ศบค.สั่งห้ามเข้า-ออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด ยกเว้นเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน

24 กุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนชุดแรกได้นำส่งมาถึงประเทศไทย จำนวน 200,000 โดส และของแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 117,000 โดส รวมทั้งหมด 317,000 โดส วัคซีนล็อตนี้ถูกกระจายไปใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนไทยคนแรกที่ฉีดวัคซีนในแผ่นดินไทย

ต้นเดือนเมษายน เกิดการระบาดระลอกสาม จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ-เอกมัย ต่อมาพบว่าโควิด-19 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือ “อัลฟา” ที่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.7 เท่า และเป็นต้นตอการระบาดรุนแรงจนถึงวันนี้

วันที่ 16 มิถุนายน เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า “ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันนี้ ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญๆ หากพร้อมได้เร็วกว่า ก็ควรทยอยเปิดให้ได้เร็วกว่านั้น นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสเรียบร้อยแล้ว ควรเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว”

ถัดมา วันที่ 1 กรกฎาคม เปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นำร่องเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว และโครงการนี้กลายเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน นำไปเป็นโครงการรับนักท่องเที่ยวเพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-19

คืนวันที่ 11 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ แถลงเดินหน้าเปิดท่องเที่ยว 1 พฤศจิกายน นำร่องนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบโดสจาก 10 ประเทศเข้าไทยได้ไม่ต้องกักตัว และภายในวันที่ 1 ธันวาคม จะพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้

จากการสรุปเหตุการณ์สำคัญประเทศไทยในช่วงปี 2539-2564 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ผ่านจุดวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภัยธรรมชาติ ถ้าเปรียบเปรยก็เสมือนนักมวย ที่ขึ้นเวทีชกมาอย่างโชกโชน บางครั้งสะบักสะบอมจนแทบน็อก ล้มทั้งยืน แต่เราก็ผ่านวิกฤตนั้นมาได้ ถึงกระนั้นบางวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ก็ยังคงส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และมีแต่ประชาชนคนไทยเท่านั้นที่จะช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นคลื่นพายุลูกต่อๆ ไปได้

ในฐานะสื่อ “ไทยโพสต์” ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมไทยมายาวนาน 25 ปี และกำลังขึ้นสู่ปีที่ 26 ก็หวังว่าในอนาคตและปีต่อๆ ไป เราจะได้ “ร่วมสุข ” มากกว่า “ร่วมทุกข์” กับคนไทย


Written By
More from pp
ถอดบทเรียน กู้ชีพ ‘อิริกเซน’ นักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก เมื่อเครื่อง AED ในที่สาธารณะ ช่วยชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
จากเหตุการณ์ปฏิบัติการช่วยชีวิต คริสเตียน อิริกเซน นักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก ที่มีอาการช็อกและหมดสติในสนาม ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2020 แสดงให้เห็นว่าการมีแพทย์ประจำสนามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความสำคัญอย่างมากกับเหตุการณ์ในครั้งนี้
Read More
0 replies on “25 ปีไทยโพสต์ ประเทศไทย 2539-2564”