ผักกาดหอม
แล้วก็ผ่านไป
๒๔ มิถุนายนปีนี้แปลกกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา
ที่ว่าแปลกคือ ม็อบรู้หน้าไม่รู้ใจ และม็อบรู้หมดยันรูขุมขน ร่วมชุมนุม ด้วยเป้าหมายคล้ายๆ กัน
ไล่ “ลุงตู่” ออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ว่าไปก็แปลกในแปลก ทำไมถึงเคลื่อนไหวพร้อมๆ กันในวันที่ ๒๔ มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
วันที่คณะราษฎรชิงอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต้องการสื่ออะไร?
หรืออยากเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกรอบ เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่ข้องใจม็อบ ๓ นิ้ว เพราะกลุ่มนี้ชัดเจนมานานแล้วว่าต้องการล้มล้างสถาบัน
แต่กับม็อบแม่น้ำ ๑๐๐ สาย แผนพิฆาตฟ้าทะลายโจร ของจตุพร พรหมพันธุ์
และม็อบทนายนกเขา
มีเหตุอะไรให้ต้องเคลื่อนไหวในวันที่ ๒๔ มิถุนายน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ขณะที่ม็อบ ๓ นิ้วเดินขบวนมาถึงแยกพญาไท และหยุดอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานาน เนื่องจากนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา ยืนชูป้ายข้อความว่า..
“ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ห้ามผ่าน”
วันนั้นม็อบ ๓ นิ้วจะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อไล่ “ลุงตู่”
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จตุพร พรหมพันธุ์ เข้าร่วมพิธีรับหมวกและผ้าพันคอพระราชทานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา ในโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดีด้วยหัวใจ” ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สำนักงานเขตพระนคร
ไล่ “ลุงตู่” ก็ไล่ไปเถอะครับ เอาที่สบายใจ
แต่ไล่ “ลุงตู่” ๒๔ มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันน่าสงสัยอยู่ไม่น้อยว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรหรือไม่อย่างไร
หรืออาจไม่ทันคิดว่า ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีประวัติศาสตร์มากกว่า ๑ ด้าน
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้เข้าเฝ้าฯ ขอทราบเหตุการณ์ดังกล่าว ณ พระตำหนักวังศุโขทัย
พระองค์ได้ทรงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นพระราชทานเท่าที่ยังทรงจำได้
“….เช้าวันนั้น รู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟนั่นแหละ” สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงเล่า “พอเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พระยาอิศราฯ เป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ
ในหลวงก็รับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอก เล่นกันต่อไปเถอะ แต่ฉันกลับก่อนแล้ว จึงไม่ทราบเรื่อง จนเสด็จฯ กลับมาก็รับสั่งกับฉันว่า ว่าแล้วไหมล่ะ
ฉันทูลถามว่าอะไรใครว่าอะไรที่ไหนกัน จึงรับสั่งให้ทราบว่ามีเรื่องยุ่งยากทางกรุงเทพฯ ยึดอำนาจและจับเจ้านายบางพระองค์ ระหว่างนั้นก็ทราบข่าวกระท่อนกระแท่นจากวิทยุ แต่ก็ไม่แน่ว่าอะไรเป็นอะไร มีเจ้านายอยู่กันหลายองค์ที่หัวหิน เช่น กรมสิงห์ (เสนาบดีกลาโหม)…”
“….บางคนก็กราบบังคมทูลว่าให้เสด็จฯ ออกไปข้างนอกเสียก่อนแล้วค่อยต่อรองกันทางนี้ ท่านรับสั่งว่า ไม่ได้ ไม่อยากให้มีการรบพุ่งกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่าๆ เจ้านายหลายองค์ก็ถูกจับเป็นประกันอยู่ เพราะฉะนั้นจะยังไม่ทำอะไร แต่ก็รับสั่งว่าจะต้องมาปรึกษาฉันก่อนว่าจะไปหรือจะอยู่ เพราะฉันต้องไปกับท่าน…”
“…เมื่อฉันได้รู้เรื่องจากในหลวง ฉันก็บอกว่าไม่ไปหรอก ยังไงก็ไม่ไปตาย ก็ตายอยู่แถวนี้ ท่านรับสั่งว่าตกลงจะกลับ ในตอนนั้นฉันจำได้ว่าเป็นเวลาเย็นแล้ว กรมพระกำแพงฯ ซึ่งจะหนีจากกรุงเทพฯ ไปได้อย่างไรไม่รู้ ได้ขอเข้าเฝ้าฯ
ท่านบอกว่าไม่มีประโยชน์หรอก เขาเข้ากันได้หมดแล้ว ทุกคนจึงได้แต่ฟังเอาไว้เฉยๆ แต่ก็ตกลงว่าจะเดินทางกลับโดยรถไฟ
ฉันมาถึงที่สถานีสวนจิตรลดาเมื่อประมาณสัก ๗ ทุ่มเห็นจะได้ แหมเงียบจริงๆ พอในหลวงเสด็จพระราชดำเนินจากรถไฟ มีราษฎรคนหนึ่งอยู่ที่สถานีกราบถวายบังคมแล้วก็ร้องไห้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นใคร อายุประมาณ ๓๐ กว่าเห็นจะได้
ในหลวงไม่ได้รับสั่งอะไร เราก็กลับมากันที่วังนี่ (วังศุโขทัย) ตลอดทางเงียบแล้วก็เศร้า เราผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคมก็ไม่มีอะไร มาทราบเอาทีหลังว่าบนพระที่นั่งอนันตฯ เขาตั้งปืนไว้เต็มหมด เพราะรู้ว่าเราจะมาทางนั้น
จนวันรุ่งขึ้นตอนเย็น ฉันจำไม่ได้แน่ว่ามีใครบ้าง ก็มาเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาที่เขามากัน มีรถถังมาสัก ๔-๕ คันเห็นจะได้จอดอยู่หน้าวัง”
“….ความจริงเรื่องปฏิวัตินี่นะ ในหลวงท่านทรงเดาไว้นานแล้วว่าจะมีปฏิวัติ แต่จะเดาจากอะไรยังไงไม่ทราบ อีกอย่างใครต่อใครหลายคนก็รู้ว่า ในหลวงจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่เหมือนกัน เพราะท่านได้ทรงร่างไว้แล้ว
แต่ระหว่างที่ทรงหารือกับเจ้านายผู้ใหญ่ๆ น่ะ ก็มีการคัดค้านกันบ้าง ท่านก็เลยรับสั่งว่าถึงให้ไปก็เหมือนกัน ยังไงก็ต้องปฏิวัติ โดยอ้างว่าไม่พอใจ พวกเจ้านายผู้ใหญ่ได้กราบทูลขอให้ระวังพระองค์ เฉพาะอย่างยิ่งวันฉลองพระนคร
ในหลวงท่านรับสั่งว่าวันนั้นน่ะไม่มีหรอก เพราะมีคนรู้กันมาก ถ้าจะระวังก็ต้องหลังจากวันงานผ่านไปเสียก่อน…”
“…ในหลวงได้รับสั่งไว้แล้วว่าไม่ให้ยุ่ง ตอนนั้นเจ้านายถูกจับกันมาก ขืนรบกันพวกที่ถูกจับอยู่แล้วก็ต้องตายก่อน นองเลือดกันเปล่าๆ ถ้าจะให้คนอื่นตายแล้วหนีเอาตัวเองรอด ท่านไม่เอา
เมื่อกรมพระกำแพงฯ ขึ้นไปกราบบังคมทูลเหตุการณ์ ในหลวงทรงรับสั่งว่ารบกันก็ไม่มีประโยชน์ มารู้เอาตอนที่กลับมาแล้วว่าพวกทหารมหาดเล็กทุกคนขังตัวเองหมด มีทหารปืนใหญ่ที่อยู่ในบังคับบัญชาของในหลวงก็ได้รับคำสั่งให้ไปประจำเสียที่เขาพระบาท
ถึงแม้แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ในหลวงก็เคยรับสั่งห้ามว่าไม่ให้ทำอะไรเป็นอันขาด ขึ้นชื่อว่าเจ้าล่ะก็ไม่ให้ทำอะไรทั้งนั้น ถ้าทำจะยิ่งร้ายใหญ่ ถ้าเผื่อเป็นคนอื่นเขาจะปฏิวัติซ้อนมาชิงอำนาจถวาย นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ว่าเจ้าทำไม่ได้ ในหลวงทรงเตือนเอาไว้เฉยๆ แล้วก็ไม่ได้ทรงทราบอะไรจากพระองค์เจ้าบวรเดชอีกว่าจะคิดทำอะไรหรืออย่างไร แต่ผลที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้…”
“…เมื่อพระยามโนฯ เป็นนายกฯ แล้วในหลวงก็ยังรับสั่งว่า พอมีหวังที่จะพยุงกันให้เรียบร้อยไปได้
แต่พอมาถึงตอนที่หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนโครงการเศรษฐกิจขึ้นมานั่นน่ะ เราก็ค้านไป ในหลวงรับสั่งว่าชักไม่ค่อยจะดีเสียแล้ว รู้สึกว่าจะมีเรื่องยุ่ง
จนกระทั่งถึงปี ๗๖ ท่านรับสั่งว่าหมดหวังที่จะช่วยให้เรียบร้อยเสียแล้ว….”
“…คืนนั้น ในหลวง ฉัน แล้วก็ ม.ร.ว.สมัครสมานขึ้นไปอยู่บนชั้น ๓ ด้วยกัน ท่านรับสั่งว่าถ้าจะมีเรื่องเกิดขึ้น ท่านก็จะยิงพระองค์เอง แล้วให้สมัครเป็นคนยิงฉัน ส่วนสมัครจะทำอะไรกับตัวเองหรือไม่ก็ช่าง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ร้ายแรงจนถึงกับจะทรงทำอย่างที่รับสั่งไว้”
ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอังกฤษ
“..ถ้าจะพูดกันแล้ว ในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริงๆ หมอบอกว่าพระเนตรอีกข้างจะบอดอยู่แล้ว ให้เสด็จฯ ไปรักษาเสีย ก็เลยตัดสินพระทัยไป…” (ประทับ ณ Knowle Cranleigh, Surrey).
ครับ ๒๔ มิถุนายน มีหลายมุม
การเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ควรเข้าใจในสถานการณ์
ไล่ “ลุงตู่” วันอื่นยังเข้าใจได้
แต่มาไล่ในวันที่ความเป็นความตายเกิดขึ้นกับรัชกาลที่ ๗ ชาวบ้านอาจมองว่าแท้จริงแล้วไม่ได้ไล่รัฐบาล
ก็ฝากให้คิด
โดยเฉพาะม็อบที่บอกว่ารักสถาบัน